Stupid Light เมื่อความอยากเบาก็ทำให้เราโง่ได้

ปัจจุบันกระแสเดินป่าค่อนข้างจะมาแรง ซึ่งก็ทำให้อุปกรณ์เดินป่าเป็นที่นิยมขึ้นมาด้วย หลายท่านเริ่มมองหาอุปกรณ์เดินป่าที่น้ำหนักเบา หลายท่านเริ่มตัดรายการอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นออกจากกระเป๋า เพื่อวัตถุประสงค์ที่จะทำให้ประหยัดแรงในการเดินทาง เพื่อทำให้เดินทางได้ง่ายขึ้น ไปได้ไกลขึ้น หรือใช้เวลาในการเดินทางน้อยลง 

มีสินค้ากลุ่มอุปกรณ์ที่เรียกว่า Ultralight เข้ามาขายหลายที่ มีการตั้งกลุ่มผู้ใช้อุปกรณ์น้ำหนักเบาขึ้นหลายกลุ่ม เรียกว่า กระแสของ ความเบา กำลังเริ่มเป็นที่รู้จักและโหยหากันมากขึ้น ….

แต่กระนั้นความเบาหาใช่ทุกอย่างไม่ … ” น้ำหนักเบาอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ถูกก็ได้ … และก็ไม่ได้หมายความว่าเบาแล้วจะดีเสมอไป ” … นี่เป็นข้อความที่เขียนลงในเพจของ นักเดินป่าชื่อดัง ผู้มากประสบการณ์ คุณ Andrew Skurka (https://andrewskurka.com/)  บทความ นี้เค้าเขียนขึ้นมาจากประสบการณ์การเดินป่าอันยาวนาน ผมอ่านแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์เลยนำมาสรุปเป็นภาษาไทยให้ฟังกัน ตามนี้

คำว่า Stupid Light ซึ่งในที่นี้มีความหมายว่า “ความเบาแบบโง่ๆ” นั้น เป็นคำที่ใช้กันมานานหลายปีแล้วในแวดวงนักเดินป่าที่เน้นน้ำหนักเบา มักจะเอามายกตัวอย่างในเรื่องของความผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากการพยายามจะลดน้ำหนักสัมภาระให้เบาลง โดยต้องแลกกับความสบาย ความปลอดภัย หรืออาจจะแลกกับเวลาที่ต้องใช้มากขึ้น 


สำหรับทริปส่วนใหญ่แล้ว เป้าหมายหลักในการเดินทางของผมคือ การสนุกไปกับประสบกาณ์เดินป่า การตั้งแคมป์ในมุมของผมก็คือ การใช้โอกาสพัก 8 ชั่วโมงเพื่อชาร์จแบตก่อนที่จะเริ่มวันแห่งการเดินทางที่มีค่าอีกวัน ซึ่งการที่จะเป็น นักเดินป่านั้น อุปกรณ์ เสบียง และทักษะของผมต้องสอดคล้องกันกับ

 
1) น้ำหนัก เพราะว่าการแบกน้ำหนักน้อยลงจะช่วยให้ผมเดินทางในระยะทางที่เท่าเดิมได้ โดยใช้ความพยายามน้อยลง หรือ ไม่ก็ทำให้ผมไปได้ไกลมากขึ้น โดยใช้ควมพยายามเท่าเดิม
2) ประสิทธิภาพในการเดินทาง ก็แน่นอน เพราะว่า การเดินป่าเป็นสิ่งที่ผมรักที่จะทำมากที่สุดในการเดินทางอยู่แล้ว

เมื่อระยะทาง 16,000 km ก่อน ผมมีความเชื่อแบบผิดๆ ว่า “น้ำหนักเบา คือ ความถูกต้อง” และยิ่งเบามากก็ยิ่งดี ผมภาคภูมิใจมากที่จะได้เรียกตัวเองว่าเป็นนักเดินป่าน้ำหนักเบา (จะใช้คำว่า  Lightweight , Ultralight หรือ Super Ultralight แบ็คแพ็คเกอร์ ก็ได้ ) และผมเชื่อเหลือเกินว่า น้ำหนักของบนเป้ที่ผมแบกมีความสัมพันธ์ในทางเดียวกันกับ ประสบการณ์การเดินทางที่ผมจะได้รับ … ยิ่งน้ำหนักของในเป้ผมเบาเท่าไหร่ ผมก็ยิ่งเดินป่าได้ดีมากขึ้นเท่านั้น

แต่ในความพยายามที่จะลดน้ำหนักอย่างมืดบอดของผมนั้น หลายครั้งมันทำให้ผมเลือกตัดสินใจที่จะยอมลด ประสิทธิภาพในการเดินทางของผมลง ซึ่งส่งผลด้านลบต่อการเดินทางของผม หรือกล่าวคือ เพื่อที่จะให้เดินทางได้เบาขึ้น ผมเลือกทางที่เรียกว่า “Stupid Light” แทน  (ความเบาแบบโง่ๆ)

เส้นทางของ  ความโง่จากการพยายามลดน้ำหนัก ของผมนั้น มาจาก 2 อย่าง คือ

1) การไม่เอาอุปกรณ์หรือเสบียงที่จำเป็นต้องใช้ตามสภาพแวดล้อมไป และ

2 เอาอุปกรณ์หรือเสบียงที่น้ำหนักเบามากเกินไป ไปด้วย

Stupid Light ทำให้คุณภาพในการเดินทางของผมลดลง โดยการลด ความสบาย หรือ ความปลอดภัยในการเดินทางของผมลง ผมยกตัวอย่างว่า ครั้งหนึ่ง ผมตั้งใจไม่เอากางเกงกันฝนไประหว่างเดินทางไกลบนเส้นทาง โคโรลาโด้เทรล ซึ่งทำให้ผมเปียกโชกไปหมด เพราะมีพายุเข้าตอนช่วงบ่าย ที่ระดับความสูง 3,300 เมตร เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงการสูญเสียความร้อนของร่างกายซึ่งเป็นอันตรายมาก ผมกับคู่หูต้องกางเต็นท์ช่วงกลางวันเพื่อหลบพายุ และทำให้ร่างกายอบอุ่น …  ถ้าเพียงแค่มีกางเกงกันฝนที่น้ำหนักแค่ 170 กรัม ผมก็คงจะสามารถเดินทางต่อได้เลย

ตอนที่ติดอยู่กลางพายุที่ความสุง 11000 ฟุต ที่  San Juan’s โคโลราโด้ ช่วงปลายมิถุนายน

ประสิทธิภาพ ในการเดินทางของผมนั้นถูกทำลายลงโดย การเลือกใช้ อุปกรณ์และเสบียงน้ำหนักเบาที่ ขาดคุณสมบัติด้านในด้านหนึ่งเหล่านี้

ขาดหน้าที่การใช้งาน เช่น ตอนที่ผมใช้สมอบกไทเทเนียมแบบน้ำหนักเบาพิเศษ ทำให้ผมต้องเสียเวลาในการเดินหาจุดกางเต็นท์ที่พื้นดินแน่นพอที่ปักสมอให้แน่นได้ เนื่องจากตัวสมอแบบเบาที่ผมมียึดกับพื้นดินร่วนๆ ไม่ค่อยดี

– ขาดความเชื่อถือได้ เช่น ตอนที่ผมเลือกใช้อุปกรณ์กันหนาวที่เป็นขนห่าน ในสภาพอากาศที่เปียกชื้น ผมต้องเสียเวลาในการตากถุงนอน กับเสื้อกันหนาวกลางแดด หรือต้องแวะออกไปหาเครื่องอบผ้า เพื่อทำให้เส้นใยแห้ง และคืนสภาพขนได้

– ขาดความทนทาน เช่น ตอนที่ผมใช้กระเป๋าเป้แบ็คแพ็คที่ทำด้วยวัสดุที่บอบบาง ผมต้องเสียเวลาในการเย็บปะ รอยขาด และรูโหว่ และต้องเลือกเส้นทางเดินอ้อม เพื่อที่จะหลบดงพุ่มไม้ ที่อาจจะทำให้กระเป๋าน้ำหนักเบาของผมเสียหายได้

– ขาดความง่ายในการใช้งาน เช่น ตอนที่ผมใช้ เชือกแบบเส้นบางน้ำหนักเบา ซึ่งผูกง่าย แต่ลื่น ผมก็ต้องเสียเวลาคอยปรับเงื่อนที่มันเลื่อนใหม่

– ขาดความอเนกประสงค์ เช่นตอนที่ผมใช้เต็นท์แบบทาร์ป (ไม่มีมุ้งกับพื้น) ในสภาพแวดล้อมบางประการ ผมก็ต้องเสียเวลาในการหามุ้งกันแมลงและผ้ารองพื้นมาใช้อีก

– ขาดประสิทธิภาพด้านเวลา เช่น ตอนไปอลาสก้า ผมกับเพื่อนเคยพยายามลดน้ำหนักลงโดยการใช้ถ้วยขนาด 900 ml ร่วมกัน ทำให้การทำอาหารแต่ละครั้งจะใช้เวลานาน 2 เท่า เพราะผลัดกันทำ ซึ่งภายหลัง เพื่อนผมก็เรียกหม้อใบนั้นว่า “ฉลาดเรื่องน้ำหนัก แต่โง่เรื่องเวลา”

การไม่เอาของที่จำเป็นไป = Stupid Light

เสื้อกันหนาวผ้าฟรีซ มักจะไม่ค่อยนิยม เนื่องจากพวกเสื้อกันหนาวแบบพองตัว เช่น ขนเป็ด ขนห่าน หรือใยสังเคราะห์ นั่นให้ความอบอุ่นได้มากกว่าถ้าเทียบกับน้ำหนักที่เท่ากัน แต่ในสภาพแวดล้อมที่เปียกชื้น จนบางทีไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเปียกได้ พวกเสื้อผ้าพองฟูพวกนั้นจะรักษาความอุ่นได้ไม่ดี และสวมใส่ไม่สบายนัก (ขึ้นกับวัสดุไส้) ซึ่งถ้าเป็นผ้าฟรีซจะไม่มีผลพวกนั้น เพราะผ้าฟรีซดูดความชื้นน้อยกว่าและความพองฟูไม่มีผลต่อการใช้งานมากนัก …. ในทริปไปอลาสก้าซึ่งเจอพายุหลายครั้ง ผมได้แต่นึกถึงเสื้อฟรีซของผมที่ผมตัดสินใจทิ้งไว้ที่บ้าน

ทริป Alaska-Yukon ผมตัดสินใจไม่เอาเสื้อฟรีซไปด้วย เพราะคิดว่าความอุ่นที่ได้ไม่คุ้มกับน้ำหนักที่ต้องแบกไป ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ผิด ผ้าฟรีซช่วยรักษาความอบอุ่นไว้ได้แม้ในสภาพวะที่เปียกชื้น ในรูปนี่ผมเสื้อกันฝนชั้นนอกผมเอาไม่อยู่ จนผมต้องใช้ถุงพลาสติคมาหุ้มตัวอีกชั้น

เกเตอร์ เพิ่มน้ำหนักแค่ข้างละ 30 กรัม บนขา แลกกับความสบาย และการประหยัดเวลาได้
ถ้าภายในรองเท้าผมสะอาดก็จะไม่มีการเสียดสีจนเกิดตุ่มพอง และผมไม่ต้องคอยหยุดเพื่อเอาเศษกรวดหินออกจากรองเท้าบ่อยๆ  ตัวผมเองใช้เกเตอร์ทุกทริปมาตั้งแต่ปี 2006 ตอนนั้นผมไปเดิน Pacific crest trail เพื่อนร่วมทางให้ผมยืมมาลอง เพราะเค้าทนเห็นผมเสียเวลาไปกับการแกะเอาดอกหญ้าออกจากรองเท้าเป็นชั่วโมงไม่ได้

ตาข่ายคลุมหัวกันแมลง น้ำหนักแค่ไม่กี่กรัม แต่ช่วยปกป้องผมจากเหล่าแมลงได้ ตอนนั้นผมไปเดินที่ Sierra High Route ซึ่งไปตอนฤดูยุงฟักไข่พอดี เรามีสเปร์ Deet สำหรับกันแมลง แต่ว่ามันไม่พอ ในกรณีที่แมลงชุมมากๆ การใส่เสื้อผ้าปกป้องทั้งตัวเป็นทางเลือกเดียว

ไม้เท้าเดินป่า แต่ละข้างอาจจะหนักซัก 180-200 กรัม แต่ว่าช่วยให้ผมเดินได้เต็มที่มากขึ้น โดยให้แขนเป็นตัวช่วยในการเดิน นอกจากนั้นยังช่วยเป็นตัวหยุดให้เวลาลงเดิน ไม้เท้าเดินป่าช่วยให้ผมยังมีแรงเหลือตอนสิ้นวัน ผมยังเดินได้มากขึ้น และช่วยให้ผมลดความเสี่ยงจากอาการบาดเจ็บได้ ตอนผมเดินที่ Appalachian Trail ช่วงแรกผมก็ไม่ได้ใช้ไม้เท้าเดินป่า แต่ะหลังจากนั้นไม่กี่วัน ผมเกิดความอิจฉานักเดินป่าคนอื่นๆขึ้นมา ตอนที่มีโอกาสผ่านที่ขาย ผมก็เลยแวะซื้อมาใช้คู่นึง และหลังจากนั้นผมก็ไม่เคยไปเดินป่าแบบจริงจังโดยไม่มีมันอีกเลย

ขวดน้ำแบบพับได้ ที่หนักแค่ 25 กรัม ที่ผมไม่ได้เอาติดไปเดินที่ ภูเขา Absoroka ในมอนตาน่าด้วย เพราะผมอยากจะลดการใช้อุปกรณ์ โดยตั้งใจจะใช้ถุงใส่อาหารมื้อเช้ามาใส่น้ำแทน ซึ่งเป็นความคิดที่ผิดเพราะนอกจากจะเติมน้ำเข้าถุงยาก ดื่มยากแล้ว ยังไม่มั่นใจว่จะเก็บน้ำได้ด้วย

การเลือกใช้อุปกรณ์ที่น้ำหนักเบามากเกินไป = Stupid Light

แผ่นรองนอนโฟม เป็นอุปกรณ์ที่เชื่อถือได้มากกว่าแผ่นรองนอนแบบลม และให้ความอบอุ่นได้มากกว่าถ้าเทียบกับน้ำหนักที่เท่ากัน แต่ถ้าต้องนอนบนพื้นดินแข็งๆ ก็ทำให้ผมนอนไม่สบายนักที่นอนเป่าลมแบบที่หนาและหนักขึ้นก็อาจจะดีกว่า ซึ่งผมว่ามันคุ้มค่ากับน้ำหนักที่ต้องแบกเพิ่ม

ถ้าผมรู้ว่ผมมีโอกาสจะนอนบนพื้นที่แข็งมากๆ เพื่อให้นอนหลับได้สบาย การเลือกเอาที่นอนลมแบบหนามาก็อาจจะคุ้มค่าอยู่

เสื้อกันฝนแบบปอนโช/ทาร์ปในตัว เป็นตัวอย่างที่คลาสสิคสำหรับนักเดินทางสาย Ultralight ที่เลือกใช้อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่ได้หลายๆอย่าง จะใช้คลุมกันฝนเป็นทาร์ป คลุมเป้ หรือคลุมตัวกันฝนก็ได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วอุปกรณ์ประเภทนี้มันใช้งานได้ต่ำกว่ามาตรฐานสำหรับการใช้งานแบบต่างๆ ลองนึกภาพ คุณแปลงสภาพเสื้อกันฝนแบบปอนโชของคุณเป็นทาร์ประหว่างที่ฝนตกดู

ไฟฉายคาดหัว และไฟฉายแบบ Ultralight อุปกรณ์พวกนี้มักจะให้ความสว่างต่ำ ระหว่างที่เดินตอนกลางคืนบนเส้น Pacific Crest Trail ผมได้เรียนรู้ว่า ไฟฉายแบบเฉพาะกิจ นั้นไม่เพียงพอต่อการใช้งานในสภาพทั่วไป มันทำให้ผมใช้เวลาในการทำกิจกรรมระหว่างตั้งแค้มป์นานมากขึ้น เพราะว่าผมมองไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ ตอนที่ผมเดินกลางคืนผมก็เดินได้แค่ 66-75% ของความเร็วปกติ

Grosgrain ribbon เป็นสายคาดไนลอนแบบแบนที่เอามาใช้ทำสายคาดเอวกระเป๋าเป้ หรือสายคาดไหล่ เพื่อลดน้ำหนัก แต่หลังจากที่ผมได้ทดลองเเอามาเย็บเปลี่ยนกับสายคาดเอวเป้แบ็คแพ็คของผม ผมก็รู้ได้เลยว่า มันไม่เวิร์คเลย ผมประหยัดน้ำหนักลงได้นิดหน่อย (ราว 15 กรัม) แต่ตัวสาย Grosgrain ribbon มันบางและลื่นมากเกินไปสำหรับเวลาต่อกับตัวล็อค ซึ่งผลก็คือ มันทำให้สายคาดเอวกระเป๋าของผมไม่เคยดึงได้แน่นอีกเลย

เมื่อการทดลองผิดพลาด ผมพยายามลดน้ำหนักสายคาดเอวเป้ลงโดยการเป็นเป็นวัสดุ  grosgrain ที่ช่วยลดน้ำหนักได้ราว 15 กรัม ผลคือผมทำเป้เสียไปเลย เพราะสายมันลื่นและบางมากเกินไปทำให้เวลารัดกับตัวล็อคแล้วไม่แน่น


แล้วคุณละ ? เคย Stupid Light บ้างไหม

คุณเคยพยายามลดน้ำหนัก ซึ่งทำให้คุณภาพในการเดินทางลดลงบ้างไหม แล้วมันส่งผลกระทบอะไรต่อความสบายและความปลอดภัยในการเดินทางบ้าง เพราะมันเบามากไป จนใช้งานได้ไม่ดี แข็งแรงไม่พอ ขาดความไว้ใจได้ในการใช้งาน ใช้ยากเกินไป หรือ ทำให้คุณเสียเวลามากขึ้น

ลองเล่าสู่กันฟังได้ครับ


อ้างอิง