รอยเท้าบนหิมะ

บทความนี้เป็นบทความแปลจาก บทความที่มีคนอ่านมากที่สุดใน unionleader.com ในชื่อบทความเรื่อง Footprints in the snow 

ความสนใจเรื่องราวนี้ของผม เริ่มมาจากการที่ได้ชมภาพยนตร์ตัวอย่างของภาพยนตร์เรื่อง infinite storm ที่เพิ่งฉายที่อเมริกาไปเมื่อปลายเดือนมีนาคม ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกว่าสร้างจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในปี ค.ศ. 2010 ที่บริเวณเทือกเขา White Mountain ใน รัฐนิวแฮมป์เชอร์ ประทศสหรัฐอเมริกา

ด้วยความอยากรู้อยากเห็นของผมเอง ผมเลยลองไปค้นข้อมูลมา ว่าเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2010 นั้นมันเป็นอย่างไร อะไรที่ทำให้เหตุการณ์ที่เกิดบนความสูงไม่ถึง 2,000 เมตร เป็นเรื่องราวที่เอามาทำเป็นภาพยนตร์ได้

ตอนที่ได้ทราบเรื่องราวทั้งหมด ผมรู้สึกประทับใจมาก มารู้ตัวอีกทีผมก็กำลังเรียบเรียงบทความนี้แปลเป็นภาษาไทย ด้วยใจที่อยากจะให้เพื่อนนักเดินทางได้อ่านกัน หวังเป็นอย่างยิ่งว่าเรื่องราวนี้จะเป็นประโยชน์และเป็นแรงบันดาลใจอะไรบางอย่างให้กับทุกท่าน 

แน่นอนว่าบทความนี้คงจะเปิดเผยเนื้อเรื่องหลักในภาพยนตร์ ซึ่งถ้าหากคุณเป็นคนที่รอชมภาพยนตร์อย่างใจจดจ่อ ก็อาจจะข้ามบทความนี้ไปก่อนได้ … แต่ถ้าคุณเป็นคนที่อยากรู้จนทนไม่ได้เช่นผม ก็ขอแนะนำให้ลองอ่านกันดูครับ

Footprints in the snow

ในช่วงกลางเดือน ตุลาคม ค.ศ. 2010 แพม เบเลส (Pam Bales) ก้าวเท้าออกจากถนน Base Road ซึ่งเป็นถนนลาดยาง เพื่อเข้าสู่เส้นทางเดินป่า Jewell Trail ที่ปกคลุมไปด้วยหิมะ เธอวางแผนว่าจะเดินตามลำพัง ไปตามเส้นทางเดินวงรอบใช้ระยะเวลาราว 6 ชั่วโมง แม้ว่าแผนของเธอจะเป็นการเดินแบบ Day Hike ที่จบในวันเดียว แต่เธอก็เตรียมสัมภาระที่จำเป็นสำหรับเหตุฉุกเฉินติดตัวไปด้วย

เธอแนบกระดาษที่เขียนรายละเอียดแผนการเดินทางของเธอไว้ที่หน้าคอนโซลรถยนต์นิสสัน Xterra ของเธอ ในรายละเอียดระบุว่า เธอจะเริ่มเดินจากเส้น Jewell Trail แล้วตัดไปทางด้านใต้เข้าเส้น Gulfside Trail แล้วขึ้นยอดเขา Washington (ความสูงยอด 1916 เมตร) แล้วไปตามเส้น Crawford Path ลงไปที่กระท่อม Lakes of The Clouds Hut แล้วไต่ระดับกลับลงทางเส้น Ammonoosuc Ravine Trail แล้วก็กลับมาถึงรถของเธอก่อนที่สภาพอากาศจะเริ่มแย่ตามที่มีการพยากรณ์อากาศไว้

แผนที่แสดงเส้นทางเดินของแพมตามที่วางแผนไว้

แพม เขียนแผนการเดินทางของเธอทิ้งไว้ในรถทุกครั้ง นอกจากนั้นเธอยังทำสำเนาแผนการเดินทาง ทิ้งไว้กับเพื่อนอีก 2 คน ซึ่งก็เป็นเพื่อนร่วมกลุ่มอาสาสมัครกู้ภัย ในชื่อ all-volunteer Pemigewasset Valley Search and Rescue Team

วันนั้นเป็นที่ 17 ต.ค. 2010 แพมตรวจสอบพยากรณ์อากาศที่บริเวณยอดเขาสูงจากข้อมูลของ ศูนย์สังเกตุการณ์ภูเขา Washington ก่อนที่เธอจะออกเดินทาง

In the clouds w/ a slight chance of showers

Highs: upper 20s; Windchills 0–10

Winds: NW 50–70 mph increasing to 60–80 w/ higher gusts

แพมรู้จากข้อมูลพยากรณ์อากาศได้ว่า เมฆลงต่ำ และมีลมบ้าง ซึ่งจากประสบการณ์ของเธอแล้ว แผนการที่จะขึ้นยอดเขา Washington  ทางเส้น Jewell Trail แล้วก็วนเป็นวงรอบกลับลงมาทางเส้น Ammonoosuc Trail นั้นเป็นแผนการที่ทำได้ โดยที่เธอก็มีแผนสำรองสำหรับเหตุฉุกเฉินไว้ว่า ถ้าจำเป็น เธอก็สามารถเดินย้อนกลับลงมาทางเดิมได้ หรือถ้าเดินไปไกลแล้ว เธอก็สามารถไปตามแผนเดิมได้ โดยที่ไม่ขึ้นยอดเขา

แพมเลื่อนแผนการมาหลายครั้งแล้ว เนื่องจากรอช่วงที่สภาพอากาศดี เธออยากจะออกไปเดินและเชื่อมโยงกับภูเขา เธอรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่อาจจะเกิดขึ้นบนภูเขาสูง เธอจึงเตรียมเสื้อผ้าเพิ่มไปเพื่อช่วยในการรักษาความอบอุ่นของร่างกายในกรณีที่สภาพอากาศเปลี่ยน ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลสภาพอากาศให้ข้อมูลบนยอดเขาไว้ว่า อยู่ในโหมด “ฤดูหนาวเต็มรูปแบบ”

การเดินทางผ่านช่วงต้นของ Jewell Trail เป็นไปด้วยดี แพมเต็มเปี่ยมไปด้วยเพลิดเพลินใจในการเดินซึ่งก็ดูเหมือนจะมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเธอเริ่มเดินเข้าสู่ระดับความสูงที่มีหิมะปกคลุม

เวลาเช้า 8.30 น. เธอยังเดินอยู่ใต้ระดับแนวต้นไม้ (Treeline เป็นระดับความสูงที่บ่งบอกสภาพพื้นที่ ถ้าเลยระดับนี้ไปต้นไม้จะโตไม่ได้แล้ว ) เธอหยุดพัก ถ่ายภาพเซลฟี่ ตอนนี้เธอสวมเสื้อแท้งค์ท้อปผ้าฟรีซ และกางเกงเดินป่า ไม่ได้สวมถุงมือ หรือใส่หมวก เนื่องจากสภาพอากาศปกติ แสงอาทิตย์ลอดผ่านต้นไม้ เกิดเงาทาบทับกับรอยยิ้มของเธอ … เธอได้เชื่อมโยงกับภูเขาแล้ว

ภาพถ่ายเซลฟี่ของแพม เบเลส บน Jewell Trail ตอนที่เพิ่งเริ่มออกเดินได้ไม่นาน

เส้นทางมีหิมะปกคลุม การเดินเป็นไปอย่างเพลิดเพลินใจ

เวลา 9.00 น. เธอแวะถ่ายภาพอีกครั้ง หลังจากที่เธอเดินขึ้นไปถึงระดับที่อากาศเย็นมากขึ้น หิมะหนาขึ้น เธอสวมเสื้อแจ็คเก็ตผ้าฟรีซทับลงไป หยิบถุงมือมาสวม ต้นไม้ด้านหลังเริ่มบดบังแสง และต้นไม้รอบทางก็ปลกคลุมไปด้วยหิมะ

เวลา 9.15 น. แพมถ่ายภาพตัวเองอีกครั้งบน Jewell Trail

หิมะเริ่มหนาขึ้น ท้องฟ้าขมุกขมัว เธอสวมเสื้อผ้าฟรีซทับลงไปและสวมถุงมือ

แพมยังคงเต็มไปด้วยรอยยิ้ม มองขึ้นไปด้านบน เมฆเริ่มหนามากขึ้น เริ่มมีหิมะตก อุณภูมิอยู่ที่ประมาณ -4 °C ความเร็วลมอยู่ที่ประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

รอยเท้าบนหิมะ

เวลา 10.30 น. ขณะที่แพมเดินผ่านแนวระดับต้นไม้ และไปถึงส่วนต่อระหว่างเส้นทาง Jewell กับ Gulfside Trail สภาพอากาศก็เริ่มแย่ลง เธอต้องเพิ่มเลเยอร์ของเสื้อผ้าเข้าไปอีก เธอใส่ เสื้อชั้นนอก แว่นก๊อกเกิ้ล ถุงมือหนาสำหรับภูเขาสูง เพื่อป้องกันตัวเองจากลมเย็น และหมอกที่หนาทึบ เธอยังเดินหน้าต่อไปที่ภูเขา Washington ในใจเธอก็เริ่มคิดว่า น่าจะหยุดแค่นี้ก่อนดีกว่า แพมมองดูเมฆด้านบนที่เริ่มลอยตัวต่ำลงเรื่อยๆ จนบดบังทัศนวิสัย เธอรู้สึกเหมือนติดอยู่ในกับดัก ในขณะเดียวกันเธอก็เริ่มสังเกตุเห็นอะไรบางอย่าง “รอยเท้าบนหิมะ” มีรอยเท้าคนอยู่ที่ด้านหน้า เธออาจจะเดินตามรอยเท้านี้มานานแล้วก็เป็นได้ แต่ก่อนหน้านี้ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากเพราะมีคนมาเดินที่เส้นทางนี้หลายคน เธอดูตามรอยเท้าพบว่ามันเป็นรอยเท้าของรองเท้าผ้าใบคู่หนึ่ง ในใจเธอนึกต่อว่านักเดินป่าเดินป่าคนนี้ ช่างไม่รู้กฏระเบียบความปลอดภัยในการเดินป่าเอาเสียเลย

ภาพถ่ายเซลฟี่อีกครั้ง ที่บริเวณจุดเชื่อมต่อระหว่างเส้นทางเดิน Jewell กับ Gulfside Trail ตอนเวลา 10.30 น. สภาพอากาศที่บริเวณภูเขา Washington เริมแย่ลง ตรงนี้เป็นจุดที่แพมเริ่มคิดที่จะปรับแผนการเดิน

เวลา 11.00 น. แพมเริ่มรู้สึกหนาวเย็นมากขึ้น แม้ว่าเธอจะเดินค่อนข้างเร็วเพื่อให้ร่างกายคอยสร้างความร้อนออกมา เธอรู้ว่าเธอต้องเพิ่มเลเยอร์ของเสื้อขึ้นอีก ที่กองหินขนาดใหญ่บนยอดเขา Clay เธอหยุดเพื่อสวมเสื้อผ้าเพิ่มและปรับล็อคแว่นก๊อกเกิ้ล เธอคิดในใจว่า ดีเหลือเกินที่เธอจัดของมาครบถ้วน โดยยอมหนักหน่อย หลังจากนั้นเธอก็ตัดสินใจยกเลิกแผนการขึ้นยอดเขา แล้วเปลี่ยนไปตัดเขาเส้น Westside Trail เพื่อวนกลับลงมาแทน ประสบการณ์เดินขึ้นเขาหลายพันชั่วโมง ทำให้เธอรู้ดีว่า เมื่อไหร่ที่ต้องยกเลิกแผน … การขึ้นยอดเขานั้นเป็นเพียงแค่ทางเลือก แต่ การกลับลงไปที่รถ SUV ของเธอเป็นสิ่งที่จำเป็น

ลมแรงจนเกิดเเป็นเสียงหวีดร้อง ขณะที่ลมพุ่งผ่านหมอกเข้าปะทะกับกับร่างของเธอ เมฆที่ปกคลุมอยู่เริ่มเปลี่ยนสภาพจากที่เคยปกคลุมด้านบน เริ่มกลายเป็นเหมือนทรายดูดที่กักเธอไว้ และสิ่งเดียวที่ทำให้แพม ยังคงเดินอยู่บน เส้นทางเลีบบอ่าวนี้ คือ … รอยเท้าคู่นั้น
แพมต้องเผชิญกับลมแรงและลูกเห็บที่บริเวณสันเขา ในขณะที่ตาเธอมองตามรอยเท้า … รอยเท้าด้านหน้าซึ่งอยู่ๆ ก็หักเลี้ยวซ้าย แล้วเดินออกนอกเส้นทางไป

ตอนนี้เธอเริ่มตื่นตัวขึ้น เธอมั่นใจว่านักเดินป่าคนนี้ คงจะมองไม่เห็นเส้นทางเพราะสภาพอากาศที่ทัศนวิสัยย่ำแย่ แล้วเลือกเดินมุ่งหน้าไปทางอ่าว Great Gulf แพมยังยืนอยู่ตรงนั้น อย่างตกตะลึง ขณะเดียวกับที่เธอพยายามชั่งน้ำหนักกับเส้นทางเดินของรอยเท้านี้ อุณหภูมิและเมฆที่ต่ำลงกำลังวิ่งไล่ตามเธอมาอยู่ เธอมองเห็นไปข้างหน้าได้แค่ไม่กี่เมตร อีกทั้งเวลาที่ฟ้ามืดลงก็อยู่ห่างแค่ไม่กี่ชั่วโมง ถ้าเธอยังจะเลือกเดินตามรอยเท้าออกไปนอกเส้นทางอีก ก็เท่ากับเธอเพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเอง และจะเสียเวลาเพิ่มไปอีก ซึ่งเธอต้องจัดการทั้งความเสี่ยงและเวลาให้ได้ … แต่เธอรู้สึกว่าไม่สามารถที่จะปล่อยรอยเท้านี้ให้ผ่านไปได้ เธอหันซ้ายออกนอกเส้นทางแล้วเดินตามรอยเท้าไป ในขณะที่ปากก็ร้องเรียก “Hello” ผ่านหมอกหนาที่หนาวเย็น

ไม่มีการตอบกลับ เธอร้องเรียกอีกครั้ง “มีใครอยู่ไหม คุณต้องการความช่วยเหลือหรือเปล่า ? “

สายลมที่รุนแรงพัดกลบเสียงร้องเรียกของเธอไป เธอเป่านกหวีดสำหรับการกู้ภัย มีบางช่วงที่เธอคิดว่าได้ยินเสียงตอบกลับ แต่นั่นมันก็เป็นเพียงแค่เสียงลม เธอพยายามเงี่ยหูฟังเสียง โดยจุดปัจจุบันที่เธออยู่ห่างจากจุดเชื่อมต่อของเส้นทาง Jewell Trail และ Gulfside Trail ไปราว 500 เมตร และห่างจากเส้น Westside Trail ที่เธอจะเดินวนกลับราว 1.5 กิโลเมตร

แพมค่อยๆเดินอย่างระมัดระวังตามรอยเท้าคู่นั้นไป ดูเหมือนว่า แผนกลับลงจากภูเขาของเธอต้องเลื่อนออกไปก่อนแล้ว

ขณะที่เธอเดินตัดผ่านหมอกที่หน้าทึบ ปากของเธอก็คอยเป่านกหวีดกู้ภัยไปเรื่อยๆ ความเร็วลมตอนนี้มากกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงไปแล้ว แม้ว่าเธอจะสวม MICROspikes  (อุปกรณ์สวมรองเท้าช่วยในการเดินบนหิมะ) ช่วยให้ยืนบนพื้นหิมะได้มั่นคง เธอก็ยังรู้สึกว่าทรงตัวได้ลำบาก … เธอจำได้ว่า ศูนย์สังเกตุการณ์สภาพอากาศเพิ่งประกาศแจ้งเตือนนักเดินป่าว่า ให้ระวังการย่ำบนหิมะ เนื่องจากหิมะที่ตกมาระหว่างหินยังไม่แน่น ถ้าพลาดเหยียบตกลงไปก็อาจจะเป็นอันตรายได้ ซึ่งแพมก็ระมัดระวังตัวมากอยู่แล้ว แต่ถ้าพลาดขึ้นมาก็มีโอกาสสูงที่จะบาดเจ็บหนักได้

Oh, hello

แพมเดินตามเส้นทางต่อไปอีกราว 20 กว่าเมตร เธออ้อมผ่านหัวโค้งเล็กๆ และสิ่งที่เธอเห็นเบื้องหน้าคือ … ร่างของชายคนนึง ชายที่นั่งนิ่ง ไม่ไหวติงใดๆ ชายคนนี้หันหน้าออกไปทางอ่าว Great Gulf ซึ่งปกติจะมีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม แต่ด้วยสภาพอากาศตอนนี้ ทำให้ถึง มองไปก็ไม่เห็นอะไรเลย เธอเดินเข้าไปหาเขา และทักว่า …  “Oh, hello.”

ไม่มีการตอบสนองใดๆ จากชายคนนี้ ชายคนนี้สวมรองเท้าผ้าใบลักษณะเหมือนรองเท้าเทนนิส ใส่เสื้อแจ็คเก็ตบางๆ พร้อมกับกางเกงขาสั้น ที่มือใส่ถุงมือแบบไม่คลุมนิ้ว ชายคนนี้ดูจะเปียกโชกไปหมดแล้ว มีเกล็ดหิมะแข็งเกาะตามเสื้อ ส่วนศีรษะไม่มีอะไรคลุม และกระเป๋าเป้เดย์แพ็คของเค้าก็ว่างเปล่า  แพมรู้สึกได้ว่า ชายคนนี้รู้ว่าเธออยู่ที่นั่น สายตาของเขาเคลื่อนตามเธออย่างช้าๆ โดยไม่ได้หันศีรษะตาม เธอรู้ว่าที่เขายังดูเหมือนขยับนั้นมันเป็นเพราะลมที่ปะทะกับตัวเขา และเสียงหิมะตามตัวที่แตกจากลมก็ทำให้ดูคล้ายกับการที่เขาขยับตัว

แพมเริ่มเปลี่ยนจากความสงสัยมาเป็นความกังวลและห่วงใยต่อนักเดินป่าคนนี้ จากการเดินหาแบบไม่เป็นทางการ กลายมาเป็นภารกิจกู้ภัยแบบเต็มรูปแบบเสียแล้ว ด้วยความรู้ในการเอาตัวรอดในภูเขาที่เธอเคยฝึกอบรมมา สิ่งที่เธอทำเป็นอย่างแรก คือ ตรวจเช็คระดับสติสัมปชัญญะของชายคนนี้ ด้วยการ … ถามคำถาม

“คุณชื่ออะไร ? ” เธอถาม

ชายคนนี้ไม่ตอบ

“คุณรู้ไหมว่าตอนนี้คุณอยู่ที่ไหน” แพมถามต่อ

ยังไม่มีคำตอบจากชายคนนี้ ผิวของเขาซีดขาว ราวกับหุ่นขี้ผึ้ง สายตาของเขาเหม่อลอย ซึ่งแพมบอกได้ว่า ชายคนนี้มีอาการไฮโปเธอร์เมีย (Hypothermia เป็นภาวะที่ร่างกายเสียความร้อนอย่างรวดเร็ว จนทำให้ระบบการทำงานของร่างกายเกิดความผิดปกติ) ซึ่งหมายความว่า ชายคนนี้อยู่ในสภาวะที่อันตรายแล้ว

ลมพัดอยู่ที่ความเร็วประมาณ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และอุณหภูมิขณะนั้นอยู่ที่ราว -3 °C สะเก็ดหิมะเริ่มเกาะตัวบนร่างของแพมและชายคนนั้น … ซึ่งตอนนี้เขากลายเป็น ผู้ประสบภัยของเธอไปแล้ว

หลายท่านอาจจะสงสัยว่าทำไม อุณหภูมิ -3 °C ถึงทำให้เกิดอันตรายได้ … นั่นเพราะด้วยความเร็วลมที่แรง ทำให้ความร้อนจากร่างกายสูญเสียไปเร็วขึ้น จนเสมือนว่าเราอยู่กลางอุณหภูมิที่ต่ำกว่านั้น อธิบายด้วยตารางค่า Wind Chill ที่เป็นการคำนวณอุณหภูมิ กับความเร็วลม ออกมาเป็นอุณหภูมิ Wind Chill ซึ่งเป็นค่าอุณหภูมิเสมือนที่ร่างกายรู้สึกได้เมื่อคิดความเร็วลมเข้าไปด้วย และถ้าอยู่ในสภาพนั้นนานกี่นาทีจะเกิด Frostbite  ขึ้น ( ภาวะผิวหนังถูกทำลายจากความเย็นจัด)

ยกตัวอย่าง กรณีนี้ อุณหภูมิ -3 °C ( 25°F) ความเร็วลม 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ( 50 mph) ค่า Wind chill จะอยู่ที่ 4 ซึ่งถ้าอยู่นาน 30 นาทีก็จะเกิดอาการ Frostbite ขึ้น

ความคิดที่จะทิ้งชายคนนี้ เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของตัวเองนั้นดูจะเป็นความคิดที่น่ากลัว แต่แพมผ่านการฝึกค้นหาและกู้ภัยมา และเธอรู้ดีว่า หลักการค้นหาและกู้ภัยคือ คนกู้ภัยต้องไม่พาตัวเองเข้าไปเสี่ยงจนตัวเองกลายเป็นผู้ประสบภัยไปด้วย เธอรู้ดีกว่าเวลาเหลือน้อยแล้ว … เธอต้องรีบ

แพมพาเขาไปนั่งพิงกับก้อนหินในสภาพกึ่งนอน เธอถอดเสื้อผ้าจนเหรือแต่เสื้อทีเชิร์ตกับกางเกงใน เนื่องจากชายคนนี้ไม่มีการตอบสนองใดๆ และเธอต้องสื่อสารกับเขา เธอไม่รู้จะเรียกเขาว่าอย่างไร แพมเลยตั้งชื่อ ชายคนนี้ว่า “จอร์น” เธอวางชุดให้ความอบอุ่นที่เท้าของเขา เธอตรวจเช็คว่าชายคนนี้มีอาการบาดเจ็บใดๆร้ายแรงหรือเปล่า เป็นโชคดีที่จอร์นไม่มีอาการบาดเจ็บใด เธอหยิบกางเกงผ้าซอร์ฟเชล ถุงเท้า หมวกกันหนาว และเสื้อแจ็คเก็ต ออกมาจากกระเป๋าของเธอ แล้วส่วมใส่ให้เขา ซึ่งแน่นอนว่าสภาพของจอร์นนั้นช่วยเธอสวมใส่ไม่ได้ ซึ่งทุกท่านก็คงพอจะจินตนาการถึงความยากลำบากในการใส่เสื้อผ้าให้คนที่ช่วยตัวเองไม่ได้ กันได้เป็นอย่างดี

แพมเอา Bivouac Sack ออกมาจากกระเป๋า เธอจับมันไว้มั่น เพื่อป้องกันลมพัดจนปลิวไป เธอสอดมันเข้ากับร่างที่ไร้การเคลื่อนไหวใดๆของจอร์น ตอนนี้จอร์นอยู่ใน bivouac sack แล้ว เธอหยิบแผ่นให้ความอบอุ่นเพิ่มจากกระเป๋าสอดเข้าไปด้านใน เหน็บไว้ที่รักแร้ และวางไว้บนลำตัว และวางไว้ที่ข้างลำคอทั้งสองข้าง เธอมักจะพกขวดใส่โกโก้ร้อนติดตัวไว้เสมอ พร้อมกับก้อนอิเล็กโทรไลต์แบบเคี้ยวได้ เธอหย่อนก้อนอิเล็กโทรไลต์ลงในโกโก้ มือข้างหนึ่งหนุนศีรษะของจอร์น ในขณะที่มืออีกข้างหนึ่งก็ป้อนเครื่องดื่มอุ่นๆให้เขา

ภาพตัวอย่างของ bivouac sack หรือเรียกสั้นๆว่า Bivy Sack 

เป็นอุปกรณ์คลุมที่เอาไว้ห่อหุ้มตัวผู้นอนไว้ข้างในช่วยปกป้องผู้นอนจากสภาพแวดล้อมภายนอก

เราต้องไปกันแล้ว

เวลาผ่านไปราว 1 ชั่วโมง จอร์นเริ่มขยับตัวได้ และพูดได้บ้าง จอร์นบอกว่า เขาออกจาก Maine เมื่อเช้า อุณหภูมิราว 15 °C เขาวางแผนที่จะเดินเป็นรอบแบบเดียวกับแพม เขาเคยมาเดินที่นี่หลายรอบแล้ว แต่ครั้งนี้เขาหลงทางจากทัศนวิสัยที่ไม่ดี แล้วเขาก็นั่งรออยู่ตรงนั้น แม้แต่ตอนที่จอร์นเริ่มอุ่นขึ้นแล้ว เข้าก็ยังมีท่าทีเซื่องซึม เขาไม่ได้ขัดขืนการช่วยหลือของแพม แต่เขาก็ไม่ได้ช่วยเธอเหมือนกัน

แพมรู้ว่า ถ้าพวกเขาไม่ออกจากที่นี่เดี๋ยวนี้ จอร์นอาจจะเสียชีวิตได้ เธอมองไปที่ผู้ประสบภัยของเธอ มองเข้าไปในดวงตาของเขา แล้วพูดว่า ” จอร์น เราต้องไปเดี๋ยวนี้” ไม่มีโอกาสให้จอร์นโต้แย้ง เธอจะลงจากเขาและจอร์นต้องไปกับเธอด้วย

เสียงลมยังดังไปทั่ว แพมถอด MICROspikes ออกจากรองเท้าของเธอแล้วสวมมันทับไปกับรองเท้าผ้าใบของจอร์น เธอพยุงให้จอร์นที่ตัวยังสั่นอยู่ลุกขึ้น แล้วก็พูดด้วยน้ำเสียงที่หนักแน่นและแสดงความห่วงใย ว่า “ตอนนี้นายจะต้องตามให้ติดก้นฉันเลยนะ ” ปกติแพมจะไม่พูดจาแบบนี้กับใคร แต่เธอรู้ดีกว่าตอนนี้เป็นเวลาที่เธอต้องบังคับเขาแล้ว เธอปฏิญาณกับตัวเองว่า จอร์นต้องไม่หยุดเดิน แล้วเผลอหลับไป … มันต้องไม่เกิดขึ้นตราบใดที่เธอจับตาดูเขาอยู่

แพมคิดว่าทางเลือกเดียวที่เหลือคือ เดินย้อนกลับไปทางเดิมที่เธอเดินมา ก็คือ กลับไปที่ Gulfside Trail แล้วเลี้ยวขวาเข้า กลับเข้าเส้น Jewell Trail แล้วก็ไต่ระดับลง นั่นเป็นระยะทางที่ไกลอยู่ แต่ระยะทาง 800 เมตร ไปถึงยอด Jewell ก็ยังสั้นกว่า ระยะทาง 4 กิโลเมตร ไปทาง Ammo แพมไม่ต้องการเดินไปทาง Westside Trail หรือขึ้นไปทางยอดเขา Washington เนื่องจากเธอได้ยินเสียงคำรามดังของลมที่วิ่งไปกระทบกับแนวหน้าผาฝั่งตะวันตกของยอดเขา Washington และเธอจะไม่พาตัวเองเข้าไปอยู่ตรงนั้นแน่

ทัศนวิสัยในการมองเห็นยังแย่มาก  ขณะที่ทั้งคู่คืบคลานช้าๆไปตามสันเขา แพมเดินตามรอยของรูเล็กๆบนหิมะที่เกิดจากไม้เท้าเดินป่าที่เธอทำไว้ตอนขาเดินมา เธอหวังว่าจะตามรอยเท้าเดิมของเธอไป แต่ว่ารอยเท้าเดิมนั้นถูกลมพัดหายไปหมดแล้ว เธอเริ่มร้องเพลงเก่าๆของเอลวิส เพรสลีย์ ผสมกันไปมา เพื่อพยามยามให้จอร์นมีสติอยู่กับปัจจุบัน และเพื่อให้ตัวเธอจดจ่อมากขึ้น

เธอค่อยๆพาจอร์นเคลื่อนไปตามก้อนหินอย่างช้าๆ พยายามที่จะอยู่บนเส้นทางเดินหลักของเทรล และพยายามมากยิ่งกว่า ที่จะรักษาสติของจอร์นเอาไว้

เขาทิ้งตัวลงกับพื้นหิมะ เธอหันมาดูและเห็นว่าเขายอมแพ้แล้ว จอร์นขดตัว หลังโค้งลง ไหล่ทั้งสองข้างทิ้งไปข้างหน้า และมือเกาะอยู่ที่หัวเข่า เขาบอกว่าเขาเหนื่อยมากและไม่ไหวแล้ว เขาขอให้เธอทิ้งเขาไว้ แล้วไปต่อเพียงลำพัง

คำตอบของแพมคือ “นั่นไม่ใช่ทางที่เราจะเลือก จอร์น ! หนทางข้างหายังหนักหนากว่านี้อีก ดังนั้น ลุกขึ้น ! ทิ้งความคิดนั้นซะ แล้วไปต่อ !

จอร์นค่อยๆ ลุกขึ้นอย่างช้าๆ ทำให้แพมรู้สึกโล่งใจมากขึ้น

ตอนที่พวกเขาเดินมาถึงทางแยกที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นทางเลียบอ่าว Gulfside กับ เส้นทาง Jewell Trail ที่ปลอดภัยมากขึ้น พวกเขาเพิ่งเดินมาได้ราว 800 เมตรเท่านั้นเอง เวลาตอนนั้นประมาณบ่าย 2 โมง และดวงอาทิตย์กำลังจะตกในอีก 3 ชั่วโมง

ในขณะที่ต้นไม้คอยปกป้องพวกเขาจากลม มันก็คอยบดบังแสงด้วยเช่นกัน แพมต้องเปิดไฟฉายคาดศีรษะ ขณะที่พวกเขาค่อยๆเดินลงมาตามทางที่คดเคี้ยว เนื่องจากทั้งสองคน มีไฟฉายแค่อันเดียว แพมต้องค่อยๆไต่ลงทางชันก่อน แล้วหันไปคอยส่องแสงสว่างให้กับจอร์น เพื่อให้เขาตามเธอลงมาได้ แพมคอยให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง “เดินต่อไปจอร์น คุณทำได้ดีมากๆ” สลับกับร้องเพลงเก่าในยุค 60 การเดินทางเป็นไปอย่างยากลำบาก
แพมกลัวว่าเขาจะทิ้งตัวลงบนหิมะ และไม่ยอมลุกขึ้นอีก

ในที่สุด ก่อนเวลา 6 โมงเย็นเล็กน้อย หลังจากผ่านความกดดันทั้งทางจิตใจและร่างกาย พวกเขาก็กลับลงมาถึงจุดเริ่มต้นของเส้นทางเดินป่าได้ ในการเดินขึ้นไปจนถึงจุดที่เธอพบจอร์น แพมใช้เวลาไป 4 ชั่วโมง และหลังจากพบจอร์นเวลาก็ผ่านไป 6 ชั่วโมงแล้ว

แผนที่ของภูเขา Washington  ที่แสดงให้เห็น จุดเกิดเหตุ เส้นทางเดินตามแผนเดิมของแพม และเส้นทางที่แพมพาจอร์นกลับลงมา

แพมเดินไปสตาร์ทรถ เอาเสื้อผ้าตัวเก่าของจอร์นที่หิมะเกาะมาวางผึ่งไว้ ให้ความร้อนจากฮีตเตอร์ช่วยละลายมันออก เพราะเธอรู้ดีว่าจอร์นไม่มีเสื้อผ้าอื่นอีก

“ทำไมคุณไม่มีเสื้อผ้าสำรอง แล้วก็อาหารอยู่ในรถของคุณเลย ? ” … แพมถาม

“ผมเพิ่งจะยืมเค้ามา” จอร์นตอบ

ไม่กี่นาทีต่อมา จอร์นเปลี่ยนมาส่วมเสื้อผ้าของเค้าที่แห้งแล้ว และคืนเสื้อผ้าที่แพมสวมให้ตอนอยู่ที่บนภูเขา

” คุณไม่เช็คสภาพอากาศก่อนหรือ ถึงแต่งตัวแบบนี้มาเดินเขา ? ” แพมถาม นี่เป็นคำถามเดิมที่เธอเคยถามเขามาแล้วตอนเดินอยู่บนสันเขา จอร์นไม่ตอบ 

เขาขอบคุณแพม เดินกลับไปที่รถของเขา แล้วก็ขับรถผ่านลานจอดรถที่ว่างเปล่า มุ่งตรงไปที่ทางออก ช่วงเวลาตอนนั้นเป็นเวลา 18.07 น. ซึ่งเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับเวลาที่ศูนย์สังเกตุการณ์ภูเขา Washington บันทึกว่าลมแรงสูงสุดของวันนั้นคือความเร็วลม 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

แพมยืนอยู่กลางความมืดตรงนั้น อย่างงๆ เธอเปรยออกมากับตัวเองว่า ” มันเกิดเรื่องบ้าบออะไรขึ้นเนี่ย ?”

ผมเพิ่งได้รับการช่วยเหลือ

แพมไม่รู้เลยว่าเกิดเรื่องอะไรขึ้น จนกระทั่งอาทิตย์ถัดมา เมื่อ อลัน คลาร์ก (Allan Clark)  ผู้เป็นประธานของกลุ่มกู้ภัยที่เธอสังกัดอยู่ ได้รับพัสดุกล่องหนึ่ง ในกล่องพัสดุมีจดหมายฉบับหนึ่ง และเงินบริจาคจำนวนหนึ่งแนบอยู่ด้วย 

ในจดหมายมีข้อความว่า

ผมหวังว่าพัสดุนี้จะส่งถึงทีมกู้ภัยได้ถูกกลุ่ม มันเป็นเรื่องยากมากแต่ผมจะลองดู มันเป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดของผม ผมไม่ขอเปิดเผยตัวตน แต่ว่าครั้งนึง มีคนเรียกผมว่า จอร์น

เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 ตุลาคม ที่ผ่านมา ผมไปเดินบนเส้นทางเดินป่า Jewell trail ที่ผมชื่นชอบ โดยมีเป้าหมายเพื่อ… จบชีวิตของตัวเอง สภาพอากาศมันแย่มาก ผมคิดว่าคงจะไม่มีใครไปอยู่แถวนั้น ผมพยายามแต่งตัวแบบที่จะทำให้ผมจบชีวิตตัวเองได้อย่างรวดเร็ว หลังจากนั้น สิ่งต่อมาที่ผมรับรู้คือ มีสุภาพสตรีคนหนึ่งคอยพูดกับผม เปลี่ยนเสื้อผ้าให้ผม เธอพูดกับผม ป้อนอาหารผม แล้วเธอก็พูดกับผม ทำให้ร่างกายผมอบอุ่น เธอพยายามพูดไปเรื่อยๆ และเรียกผมว่า จอร์น ซึ่งผมก็ยอมให้เธอเรียกผมอย่างนั้น ซึ่งในตอนท้ายผมก็ได้รู้ว่า เธอมีชื่อว่า แพม

สภาพอากาศเลวร้ายมาก และผมบอกให้เธอทิ้งผมไว้ แล้วเอาตัวรอดไปคนเดียว แต่เธอปฏิเสธ เธอฉุดผมให้ลุกขึ้น พยายามให้ผมตามหลังเธอไปติดๆ ขณะที่พยายามพูดไปด้วย ผมเดินตามเธอไป แต่ในใจผมก็คิดว่าจะหลบหายไป ไม่ให้เธอเห็นผมอีก แต่ว่า … ผมแค่อยากจะจบชีวิตของตัวเอง ไม่ได้อยากจะจบชีวิตของคนอื่นด้วย และผมเชื่อว่า ถ้าผมหายไป เธอจะต้องพยายามตามหาผมอย่างแน่นอน

ตลอดเวลาที่เธอคอยดูแลผมด้วยความห่วงใย เห็นอกเห็นใจ  ให้ความเชื่อมั่น ทำให้ผมรู้สึกมีพลัง และให้ความประทับใจที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ชีวิตของผมยังมีความหมายอยู่ ด้วยชีวิตที่เต็มไปด้วยความผิดพลาดของผม ทำให้แม้แต่ตัวผมเองรู้สึกว่าตัวเองไม่มีความหมายอะไร แต่กับแพม .. มันมี เธออาจจะคิดว่าผมเป็นนักเดินป่าที่โง่ที่สุดที่แต่งตัวแบบนั้นไปเดินป่า แต่เธอไม่ได้ดูถูกผม เธอปฏิบัติกับผมด้วยความอ่อนโยน บางทีผมอาจจะยังไม่ถึงที่ตายก็ได้ บางทีชีวิตผมคงยังพอจะมีความหมายอยู่

การที่จากมาโดยที่ไม่ได้ขอบคุณเธออย่างเป็นทางการนั้น ทำให้ผมรู้สึกละอายมาก ถ้าหากเธอคือตัวอย่างของความเป็นมืออาชีพในหน่วยงานของคุณ กลุ่มกู้ภัยของคุณคือกลุ่มที่ยอดเยี่ยมมาก กรุณารับของตอบแทนเล็กๆน้อยๆสำหรับความพยายามที่เหนือกว่าคำว่า ความปลอดภัยส่วนตัวของเธอ …  คำว่า “ไม่” ดูเหมือนว่าจะไม่อยู่ในความคิดของเธอเลย

ตอนนี้ผมได้รับความช่วยเหลือในการบำบัดทางจิต พวกเขาช่วยผมหางานใหม่และตอนนี้ผมมีที่อยู่อาศัยชั่วคราว ผมมีเป้าหมายในชีวิต ต้องขอขอบคุณกลุ่มคนที่ยอดเยี่ยมเช่นพวกคุณ ผมเห็นชื่อกลุ่มของพวกคุณจากสติกเกอร์และตราที่ติดอยู่บนเสื้อและกระเป๋าของเธอ

ด้วยความขอบคุณอย่างสุดซึ้ง

จอร์น

ในจดหมายที่เขาเขียนมานั้น บอกว่า แพมทำให้เขารู้สึกว่าตัวเองยังมีความสำคัญอยู่นั้น ทำให้เธอตื้นตันใจมาก

การกระทำที่เสียสละ และความอ่อนน้อมถ่อมตนของแพมเป็นที่กล่าวถึงกันโดยทั่ว

เคน นอร์ตัน (ken norton) กรรมการบริหารของหน่วยงาน National Alliance of Mental Health รัฐนิวแฮมป์เชอร์ ผู้ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิต ผู้เคยพูดถึงรื่องของการฆ่าตัวตายไว้ในเวทีระดับชาติ และเคนยังเป็นนักเดินป่าผู้ชื่นชอบการเดินป่าที่เทือกเขา White Mountain แห่งนี้เช่นเดียวกับแพม ตอนที่ผู้เขียนบทความนี้ได้เอาเรื่องของแพมไปเล่าให้เขาฟัง เขาจับประเด็นสำคัญตรงเหตุการณ์ที่แพมเข้าไปขัดขวางการฆ่าตัวตายของจอร์นไว้ตอนอยู่บนภูเขา

จอร์นยืมรถมา แล้วขับจาก Maine ไปที่ Ammonoosuc Ravine เดินไปจนถึงจุดที่เขาคิดว่า เขาคงไม่สามารถหวนกลับไปได้อีกแล้ว แต่ก็มีนางฟ้าจากที่ไหนก็ไม่รู้ปรากฏตัวขึ้น แล้วบังคับพาตัวเขาลงจากภูเขา

เคน กล่าวว่า 90% ของคนที่เคยพยายามฆ่าตัวตายมาแล้ว จะไม่เสียชีวิตจากการฆ่าตัวตาย

จอร์นขับรถจากไปวันนั้น โดยที่เขาไม่ได้อ้อมไปที่อีกด้านของภูเขาแล้วขึ้นไปหาที่ตายต่อ แต่เขาขับรถกลับบ้าน อีกอาทิตย์ต่อมา เขารู้สึกว่าเขาต้องเขียนจดหมายแบบไม่ระบุตัวตน ถึงประธานกลุ่มกู้ภัยที่แพมสังกัดอยู่ เพื่อบอกเล่าว่าเขาพยายามกลับเข้าสู่สังคมอีกครั้ง … เรื่องราวของเขาเป็นเรื่องราวของความหวังและการไม่ยอมแพ้

หลังจากที่แพมช่วยจอร์น เมื่อ 8 ปีที่แล้ว (บทความนี้เขียนเมื่อปี 2019 ในขณะที่เหตุการณ์เกิดในปี 2010) แพมได้กลายเป็นตำนานของเทือกเขา White Mountain มันเป็นตำนานที่เธอไม่ได้แสวงหา หรือต้องการเป็นเลย แต่เป็นสิ่งที่เธอได้มาเอง

บางคนถามผมว่า ผมได้พยายามตามหาตัวจอร์นบ้างไหม ความคิดที่จะหาตัวเขาทำให้ผมรู้สึกไม่ถูกต้องนัก ในขณะที่ผมนึกทบทวนถึงเรื่องราวนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ผมก็พบคำตอบแล้วว่า จอร์นคือใคร ? และเขาเป็นคนใกล้ตัวผมเสียด้วย จอร์นคือคนใกล้ตัวผม เขาเป็นเพื่อนที่ดี เป็นเพื่อนร่วมงานที่ใกล้ชิด เป็นสมาชิกของครอบครัวคนหนึ่ง … จอร์นอาจจะคือตัวผมเองก็ได้

ณ จุดหนึ่งของชีวิตของเรา เราอาจจะพบว่าตัวเองเดินอยู่บนเส้นทางที่ไร้ที่พึ่ง อยู่บนสันเขา เดินอยู่ท่ามกลางพายุหิมะที่อยู่ในตัวเราเพียงลำพัง ปราศจากความอบอุ่น รู้สึกไม่ปลอดภัย รอบตัวห้อมล้อมไปด้วยความมืดมิด เราแสวงหาสถานที่นั้น … สถานที่ที่อยู่นอกเส้นทางเดินแห่งนั้น โดยหวังว่าเราจะหลุดพ้นจากการต่อสู้ดิ้นรนท้้งหลาย น่าเศร้าที่หลายคนเลือกจะเดินไปตามเส้นทางนั้น ในขณะที่หลายคนสามารถที่จะช่วยตัวเองได้อย่างเงียบงัน และอีกหลายคนเช่น จอร์น … ถูกช่วย โดยคนอย่าง แพม เบเลส

-ข้อมูลอ้างอิง

บทความเรื่อง Footprints in the snow lead to an emotional rescue โดย TY GAGNE แผยแพร่เมื่อวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 2020 TY GAGNE

แปล เรียบเรียง และเพิ่มคำอธิบายโดย พีท ร้านอุปกรณ์เดินป่า Pete & Paul

บทส่งท้ายจากผู้แปล

เรื่องราวของ แพม เบเลส เป็นเรื่องราวที่น่าประทับใจมาก ประกอบกับการเล่าเรื่องของ Ty Gagne  ผู้เขียนบทความ ซึ่งนอกจากจะถ่ายทอดเรื่องราวได้ดีแล้ว ยังเล่าเรื่องในมุมที่ทำให้เราท่านได้เรียนรู้ถึงการประพฤติปฏิบัติตัวที่ดีในการเดินป่า ผ่าน แพม เบเลส ผู้ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทั้งในการเดินป่า และการกู้ภัย

เริ่มตั้งแต่การวางแผน ศึกษาสภาพอากาศ ประเมินความเสี่ยง มีการเขียนแผนการเดินทางฝากทิ้งไว้ทั้งในรถที่จอดที่ลานจอด มีแจ้งเพื่อนและให้แผนการเดินทางเผื่อไว้กับเพื่อนอีก 2 คน เราได้เห็นการเลือกเสื้อผ้าด้วยระบบเลเยอร์ที่สวมใส่เป็นชั้นๆ เข้าออกตามสภาพอากาศ

การเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด มันเป็นทันศนคติของนักเดินป่าที่เน้นความปลอดภัยเป็นอันดับแรก ส่วนเรื่องน้ำหนักเป็นเรื่องรองลงมา ผมลองมานั่งคิดดู หากแพม เบเลส เกิดเป็นนักเดินป่าสาย Ultralite ที่เน้นให้ของในเป้เบาที่สุด ตัดของที่ไม่คิดว่าจะได้ใช้ออกให้หมด … จะเหลืออะไรในกระเป๋าของแพม ที่เอาไว้ช่วยจอร์นได้

เราได้เรียนรู้การปฏิบัติตัวหากเจอผู้ประสบภัย ซึ่งอาจจะเป็นสมาชิกในทีมเดินป่าของเราก็ได้ การสอบถามเพื่อตรวจเช็คระดับของสติสัมปชัญญะ การพยายามพูดคุย ให้กำลังใจ ทำให้ผู้ประสบภัยสบายใจ  เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ใครก็สามารถทำได้ โดยไม่ต้องใช้ความรู้เทคนิคในการกู้ภัยชั้นสูงแต่อย่างใด

และเหนืออื่นใด ที่น่ายกย่องที่สุด คือ หัวใจที่เสียสละของแพม แพมยอมเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเอง เพื่อช่วยเหลือผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทนอะไร … สมควรแล้วที่เธอจะได้รับการกล่าวขานเป็น ตำนานของเทือกเขา White Mountain

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับทุกท่าน
ร้านอุปกรณ์เดินป่า Pete & Paul