รีวิว เต็นท์เดินป่า Mikk Terra 1 นอน 1 คน น้ำหนักเบา ราคาเบาๆ

พฤษภาคม 8, 2021 แนะนำอุปกรณ์

แนะนำสเป็คเบื้องต้น

ก่อนที่จะรีวิวเต็นท์เดินป่า Mikk รุ่น Terra 1 นี้ เรามาดูเสป็คของเต็นท์ตัวนี้ก่อนดีกว่าครับ 

แบรนด์ Mikk
ขนาดนอน 1 คน
ขนาดพื้นที่นอน กว้าง 90 cm ยาว 210 cm สูง 105 cm
ขนาดพับเก็บ ⌀12 cm x 45 cm
วัสดุ ฟลายชีท ผ้า Silnylon 1 ด้าน 20D กันน้ำ 3,000 mm
เต็นท์ชั้นใน มุ้งไนลอน B3
พื้นเต็นท์ ผ้า silnylon 20D กันน้ำ 3,000mm
เสาอลูมิเนียม ขนาด ⌀ 7.9 mm
สมอ อลูมิเนียม ยาว 18 cm
อุปกรณ์ในชุด น้ำหนักรวมทั้งชุด (ไม่รวมกราวด์ชีท)  1.45 Kg
เต็นท์ชั้นนอกรวมชั้นใน 869 g
เสาอลูมิเนียม 417 g
ชุดสมอบก 11 ตัว พร้อมเชือก 3 เส้น 170 g
กราวด์ชีท 200 g

ถ้าดูจากสเป็คในเบื้องต้นก็จะเห็นว่า เป็นเต็นท์เดินป่าที่ออกแบบมาเพื่อเน้นน้ำหนักเบา เหมาะแก่การพกพาสำหรับการเดินทาง ซึ่งเดี่๋ยวผมจะมาขยายความให้ต่อไปว่ามันจุดเด่นยังไงบ้างเป็นข้อๆ อีกที

อุปกรณ์ในชุด

ในชุดเต็นท์จะประกอบไปด้วย

– ฟลายชีทชั้นนอก

ใช้ผ้าไนลอนเคลือบซิลิโคน 20D ซึ่งมีจุดเด่นที่น้ำหนักเบา และมีความแข็งแรงในระดับที่กำลังดีครับ ถ้าผ้าบางกว่านี้น้ำหนักจะเบาลงจริง แต่ก็จะมีความแข็งแรงที่ลดลงด้วย โดยส่วนตัวผมยังว่า 20D นี่กำลังดี ไม่ขาดง่ายไป 

– ชั้นใน

เป็นมุ้งตาข่าย B3 มาตรฐานในการกันพวกแมลงต่างๆ ด้วยความที่เป็นมุ้งเยอะ ราว 95 % ของพื้นที่ด้านข้าเต็นท์ ทำให้ระบายอากาศได้ดี เหมาะกับเต็นท์ที่ใช้ในสภาพอากาศร้อนชื้นแบบบ้านเรา แต่ถ้าใครเอาไปใช้ในที่อากาศหนาวเย็นจัด เช่นต่างประเทศ ก็แนะนำให้ดูรุ่นที่มุ้งน้อยกว่านี้จะเหมาะกว่าครับ

– เสา อลูมิเนียม

เส้นผ่านศูนย์กลาง 7.9 mm เต็นท์แบบน้ำหนักเบา ก็มักจะใช้เสาอลูมิเนียม เนื่องจากมีจุดเด่นตรงที่น้ำหนักเบา และไม่เปราะแตกง่ายเหมือนกับพวกเสาไฟเบอร์ที่ใช้ในเต็นท์ราคาถูก 

– อุปกรณ์เสริมอื่นๆ

ก็จะประกอบด้วย สมอบกอลูมิเนียม 11 ตัว  พร้อมเชือก Wind Rope สำหรับผูกยึดเต็นท์เพิ่มเวลาลมแรง อีก 3 ชุด

– กราวด์ชีท 

สำหรับปูรอง 1 พื้นก่อนวางเต็นท์ลงไป ตัวนี้จุดประสงค์เพื่อเพิ่มลดการเสื่อมสภาพของพื้นเต็นท์ที่เกิดจากการลากถู สัมผัสกับพื้นดินโดยตรงครับ การมีกราวด์ชีทจะช่วยให้เต็นท์มีอายุยาวนานขึ้น

เรียกว่าให้มาทุกอย่าง ที่จำเป็นต่อการใช้งาน พร้อมกางได้เลย โดยไม่ต้องหาอุปกรณ์อะไรเพิ่มอีก

วิธีการกาง

การกางเต็นท์ตัวนี้ไม่ยากครับ อันนี้บรรยายลำบาก ลองดูวีดีโอดีกว่า กางง่ายมือใหม่ก็สามารถทำได้ง่ายๆเลย

รีวิวการใช้งาน

หลังจากที่ได้ลองกาง และลองใช้งานดู ผมสรุป เป็นข้อๆ ได้ 9 ข้อตามนี้เลย

1 .เป็นเต็นท์ Free Standing กางได้แทบทุกสภาพพื้น

เต็นท์ตัวนี้เป็นแบบ Free Standing หมายถึงเต็นท์ที่สามารถกางได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องปักสมอ ซึ่งก็จะทำให้เราสามารถกางเต็นท์ในบริเวณที่พื้นปักสมอไม่ได้ เช่น พื้นปูนในอาคาร พื้นลานหิน เป็นต้น  

เต็นท์ที่ออกแบบมาเป็น Free Standing  นั้นมักจะมีน้ำหนักมากกว่าเต็นท์แบบที่จำเป็นต้องกางโดยมีสมอยึดอยู่ตลอด แต่ก็มีข้อดีคือ ความอเนกประสงค์ในการใช้งานครับ พร้อมกางได้ทุกที่ ไม่ว่าพื้นจะปักสมอได้หรือไม่ก็ตาม

2  ขนาดพื้นที่ด้านในกว้างเป็นพิเศษ

ตัวนี้จัดเป็นเต็นท์นอนคนเดียวที่ค่อนข้างกว้างสำหรับเต็นท์นอน 1 คน เพราะมีความยาวและกว้างมากกว่าเต็นท์สำหรับ 1 คนทั่วไป

 ผู้เขียน หนัก 80 kg สูง 176 cm ขนาดพื้นที่นอนก็เท่ากับแผ่นรองนอน (ดูรูปประกอบ) จะเห็นว่า ต่อให้ผู้เขียนนอนลงไปแล้ว ก็จะเหลือที่ด้านเหนือศีรษะ และด้านข้างอีกราว ข้างละ 1 ไม้บรรทัด  ก็เรียกว่ามีพื้นที่ว่างอีกพอสมควร มากพอที่จะวางกระเป๋าด้านในได้  โดยไม่อึดอัด 

กล่าวคือ โดยปกติ ถ้าเป็นนักเดินทางนอน 1 คน ที่ต้องการวางของด้านในเต็นท์ด้วย ส่วนใหญ่ก็มักที่จะเลือกใช้เต็นท์นอน 2 คน ซึ่งมีราคาแพงขึ้น และน้ำหนักมากขึ้น  … แต่เต็นท์เดินป่า Mikk Terra 1 นี่ นอนคนเดียวได้กว้างสบาย แล้วยังมีที่เหลือวางของอีกด้วย 

ภาพเปรียบเทียบเมื่อวางแผ่นรองนอนขนาด 1 คน ที่กว้าง 59cmยาว 183 cm  

จะเห็นว่ามีพื้นที่เหลือสำหรับวางของอีกมาก

3 พื้นที่เหนือศีรษะสูง นั่งแล้วไม่อึดอัด ศีรษะไม่ชนด้านบน

เป็นจุดเด่นอีกอย่างของเต็นท์รุ่นนี้คือ เป็นเต็นท์ที่ค่อนข้างสูง โดยสูง 110 cm ในขณะที่เต็นท์ทั่วไปสูงแค่ราว 90-100 cm เท่านั้น เห็นตัวเลขต่างกันไม่มาก แต่เวลาไปนั่งจริงมีผลพอสมควรนะครับ อารมณ์เหมือนเราเข้าไปห้องที่เพดานสูง 2.5 เมตร กับ 3 เมตร คือความสูงต่างกันไม่มาก แต่ความรู้สึกอึดอัดต่างกันพอสมควรเลยทีเดียว

นอกจากนั้นเต็นท์รุ่นนี้ ยังมีคานอลูมิเนียมขวางที่ด้านบน ช่วยดึงให้บริเวณตรงกลางด้านบน กว้างขึ้น ทำให้ผู้ใช้สามารถนั่งในเต็นท์ได้สบาย โดยศีรษะไม่ชนด้านบน หรือแตะมุ้งเลย

มีหลายครั้งที่ ผู้เขียนเคยไปกางเต็นท์หน้าฝนแล้วฝนตกทั้งวันไม่รู้จะทำอะไร บางทีการอยู่ในเต็นท์ที่แคบและเตี้ยนี่สร้างความอึดอัดให้มากพอสมควร หรือสำหรับใครที่ใช้เต็นท์ในการเดินธุดงค์ ปฏิบัติธรรม ก็สามารถเอาไปใช้นั่งสมาธิได้สบาย โดยที่ศีรษะไม่ชนกับมุ้งเลย

คนนั่งสูง 176 cm นั่งแล้วยังมีพื้นที่เหลือเหนือศีรษะอีกราว 10 cm เป็นอย่างน้อย

คานตรงกลาง จะช่วยให้ผู้นั่ง นั่งได้สบายศีรษะไม่ชนมุ้ง ซึ่งส่วนใหญ่เต็นท์ 1 คน มักจะไม่ค่อยมีคานกลางกันครับ

4 น้ำหนักเบา แค่ 1.45 Kg

น้ำหนักเต็นท์ค่อนข้างเบาครับ รวมทุกอย่าง ทั้งสมอบก เชือก ฟลายชีท เสา มุ้ง หนักแค่ 1.45 Kg เท่านั้น เป็นน้ำหนักยังไม่รวมกราวด์ชีทนะครับ ถ้ารวมก็จะหนักประมาณ 1.65 Kg  

** หมายเหตุ **  ถ้าจะไปเปรียบเทียบกับเต็นท์อื่น ต้องดูน้ำหนักที่เท่ากันด้วย เพราะเต็นท์ส่วนใหญ่ที่ขายกันในตลาด เวลาบอกน้ำหนักจะบอกแค่ น้ำหนักฟลายชีท มุ้ง แล้วก็เสา ไม่รวมเชือก ไม่รวมสมอ และกราวด์ชีท *** 

ประเด็นคือ ตัวเต็นท์สามารถทำน้ำหนักได้เบา …  โดยไม่ได้ลดความหนาของผ้าลง หรือเลือกใช้เสาอลูมิเนียมที่เล็กลง  หรือ ปรับลดพื้นที่เต็นท์ให้เล็กลง เตี้ยลง ซึ่งพวกนั้นจะส่งผลต่อความแข็งแรงทนทานของเต็นท์ และความสบายในการใช้งาน

เพราะฉะนั้นถ้าเทียบกับความเป็นเต็นท์ Free Standing ที่มีขนาดกว้าง สูง และราคาไม่แพงแล้ว ถือว่าเป็นเต็นท์ที่เบามากทีเดียวครับ

ส่วนๆต่างของเต็นท์ ใช้เสาอลูมิเนียม สายรัด ตัวล็อค ที่น้ำหนักเบาแต่คงความแข็งแรงอยู่

5 ขนาดพับเก็บถือว่าเล็กกำลังดี

ตัวขนาดเมื่อพับเก็บใส่ซองแล้วจะเป็นทรงกระบอกที่ ยาวประมาณ 45 cm เส้นผ่านศูนย์กลาง 12 cm ขนาดจัดว่าเล็กและพกพาง่าย เหมาะสำหรับการเดินทาง แต่อย่างไรก็ตามถ้าใครจะใส่เป้เดินทางใบเล็ก หรือ ใส่กระเป๋ามอเตอร์ไซด์ ก็แนะนำให้วัดขนาดกันให้ดีก่อนนะครับ 

6 การกันน้ำ

ตัวเต็นท์กันน้ำได้ดีครับ ค่าการกันน้ำผ้าอยู่ที่ 3000 mm ทั้งฟลายชีทและพื้นเต็นท์ 

จริงๆ เรื่องการกันน้ำเป็นปัญหาที่คนไทยมักจะกลัวกัน คงเพราะเคยมีประสบการณ์กับน้ำเข้าเต็นท์กันมา ซึ่งผมบอกได้เลยว่า น้ำเข้าเต็นท์มันมีได้ 2 ทาง

ทางแรก คือ ซึมผ่านผ้า คือโดยปกติผ้าเต็นท์มันจะไม่ได้กันน้ำนะครับ แต่มันจะกันได้ถ้ามีการเคลือบสารกันน้ำเข้าไปที่ผิวไม่ว่าจะเป็น PU หรือ ซิลิโคน แน่นอนว่า ถ้าเคลือบมาจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน ค่าการกันน้ำแค่ระดับ 1500 mm ก็เหลือเฟือแล้ว เพราะเวลาน้ำฝนตกลงมา นั้นมันไม่ได้ตกมาเป็นแอ่งน้ำ มันตกมาโดนแล้วก็ไหลออกไป เพราะฉะนั้นระดับการกันน้ำที่แท้จริง แค่ 1500  mm ก็เกินพอแล้ว 

ทราบไหมครับว่า ร่มกันฝนที่เราใช้กันนี่ กันน้ำแค่ 300- 400 mm เท่านั้น … เพราะฉะนั้นถ้าน้ำเข้าเต็นท์โดยการซึมผ่านทางผ้า ก็คาดได้ว่าเป็นปัญหาเรื่องสารเคลือบเสื่อมสภาพ หรือคุณภาพผ้าที่เคลือบมาจากโรงงานไม่ดีมากกว่า

เต็นท์รุ่นนี้ผลิตจากโรงงานผลิตเต็นท์ที่ได้มาตรฐาน ผ้าก็มาจากโรงงานที่ได้มาตรฐาน สารเคลือบกันน้ำ ก็มาจากเกาหลีใต้ ก็น่าจะทำให้ผู้ใช้มั่นใจเรื่องการกันน้ำได้

ทางที่ 2 ที่น้ำจะซึมเข้าเต็นท์ได้ อีกทางก็คือ ผ่านทางซีลกันน้ำ

เต็นท์ตัวนี้เคลือบซิลิโคนที่ด้านนอก ด้านในเคลือบ PU ซึ่งมีการติดเทปกันน้ำตามแนวตะเข็บไว้ น้ำก็จะเข้าไม่ได้ครับ แต่ตัวเทปกันน้ำนี่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ มันก็จะค่อยเสื่อมไปตามกาลเวลา พอมันเสื่อมเราก็ซ่อมได้ง่ายๆ โดยการติดเทปเข้าไปใหม่ หรือไม่ก็ใช้การทากาวซีลแทน 

โดยส่วนตัวผมไม่แนะนำการติดเทปใหม่ เพราะ การติดเทปมันต้องใช้ความร้อน ถ้าไม่ได้ทำจากโรงงานก็มีโอกาสที่จะทำให้ผ้าเสียหายได้ หรือต่อให้ติดเทปเองได้ ก็จะไม่ทนเท่ากับติดมาจากโรงงาน เพราะฉะน้นผมแนะนำใช้กาวซีลทาจะง่ายและทนทานกว่าครับ ที่แนะนำก็ Seam grip ของ Gear Aid

แต่ถ้าถามว่า นานแค่ไหน เทปถึงจะเสื่อม สารเคลือบกันน้ำเสื่อม … อันนี้ตอนไม่ได้เพราะ ขึ้นกับการใช้งาน ใช้มาก ตากแดด ตากฝนบ่อย  เก็บไม่ดี มันก็เสื่อมไว เป็นธรรมชาติปกติของเต็นท์อยู่แล้วครับ

7 การกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ

การเกิด Condensation คือการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ซึ่งจะเกิดได้ถ้ามีความชื้นภายในเต็นท์มาก และอากาศด้านนอกเย็น เมื่อความชื้นไปเจอกับผิวเต็นท์ที่อากาศเย็นก็จะกลั่นตัวเป็นหยดน้ำด้านในได้ 

หลายคนมักจะเข้าใจผิดว่าน้ำซึมผ่านผ้าเต็นท์เข้ามาจากด้านนอก ในขณะที่จริงๆ แล้วมันเกิดเป็นหยดน้ำจากด้านในครับ … ความชื้นด้านในก็มาจาก คน ที่เวลาหายใจเข้าออกมีความชื้นออกมาด้วย หรือ มีเสื้อผ้า รองเท้าที่เปียกวางอยู่ด้านในเต็นท์ พวกนี้ก็ทำให้ปริมาณการเกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำมากขึ้นได้

โดยข้อเท็จจริงแล้ว เต็นท์รุ่นนี้ใช้ผ้า Silnylon จะมีโอกาสเกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำจากความชื้นที่อยู่ด้านในเต็นท์ได้มากกว่าผ้าโพลีเอสเตอร์อยู่บ้างครับ แต่ก็ไม่ได้ต่างกันมากอย่างมีนัยสำคัญในการใช้งานอะไร

 ตัวนี้มีการเกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำน้อย เพราะเป็นเต็นท์ 2 ชั้น ด้วยความที่เป็น 2 ชั้น อุณหภูมิก็จะมีการแบ่งกันเป็นช่วง ที่ต่างกันน้อยลง พอความต่างของอุณหภูมิน้อยลง การเกิดหยดน้ำก็น้อยลงด้วย ประกอบกับ ตัวเต็นท์มีช่องระบายอากาศ  และประตูที่กว้าง ตัวทางออกด้านข้างทั้ง 2 ด้าน ก็สามารถยกข้างให้สูงขึ้น เพื่อให้อากาศไหลเวียนดีขึ้นได้  ก็จะทำให้การเกิดการกลั่นตัวเป็นหยดน้ำด้านในน้อยลงได้ด้วย

8 เป็นเต็นท์ที่ค่อนข้างครบเครื่อง

เต็นท์รุ่นนี้มีชิ้นส่วนที่ควรจะมีอย่างครบครัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนที่จำเป็น อย่างเช่น จุดยึดเชือกเพิ่มเวลากางเต็นท์ในสถานที่ลมแรง ๆ  หรือเป็นส่วนที่เพิ่มความสะดวกสะบายแก่ผู้ใช้ เช่นช่องเก็บกระเป๋าโทรศัพท์ หรือแว่นตา หรือที่แขวนโคมไฟ เป็นต้น 

ด้านข้างแต่ละด้าน สามารถดึงขึ้นสูงขึ้น ให้อากาศไหลเวียนได้ดีขึ้นได้ 

ปกติเต็นท์ 1 คน มักจะไม่มีส่วนนี้ ที่ด้านหัวกับปลายเท้าครับ ส่วนใหญ่จะมีกับเต็นท์ขนาด 2 คนขึ้นไป

ส่วนนี้เอาไว้ผูกเชือก Wind rope ที่มีให้ในชุด สำหรับยึดเต็นท์เพิ่มในกรณีที่ กางในที่ลมแรงครับ

เชือกผูกสำหรับยึดฟลายชีทกับเสา เพื่อกันฟลายชีทกระพือเวลาลมแรง

Rope Tensioner สำหรับปรับระยะเชือก ได้ง่ายๆ โดยไม่ต้องผูกเงื่อนเป็น

ด้านบนเหนือศีรษะ มีช่องวางของ และที่แขวนโคมไฟ

มีช่องวางของที่ส่วนปลายเท้า

9  สำคัญสุดคือ ที่พูดมาทั้งหมดนั่น จ่ายในราคาไม่แพงครับ เรียกว่าคุ้มเงินที่จ่ายมาก

ตัวนี้ผมให้เป็นเต็นท์ที่คุ้มราคามาก เพราะตัวเต็นท์ใช้ผ้า Silnylon (ผ้าไนลอนเคลือบซิลิโคน) ทั้งฟลายชีท และพื้นเต็นท์ เสาอลูมิเนียม ราคารวมกราวด์ชีท 2950 บาทนี่จัดว่าราคาถูกเลยครับ เพราะถ้าเทียบกับของ Naturehike รุ่น cycling นี่ ราคาศูนย์ไทย รุ่นผ้าเคลือบซิลิโคนแบบเดียวกัน ราคาก็จะอยู่ที่ 3650 บาทแล้ว และในราคา 3650 บาทนี่พื้นเต็นท์ไม่ใช่ผ้า Silnylon นะครับ เหนือศีรษะก็ไม่มีเสากลางด้วย ทำให้ด้านบนเหนือศีรษะแคบกว่า

เรียกว่าถ้าเทียบกันที่วัสดุแบบเดียวกันทั้งตัว ก็ถือว่าราคาถูกกว่าราว 30-40 % เลยทีเดียว

สรุปความเห็นผู้เขียน

เต็นท์เดินป่า Mikk รุ่น Terra 1 เป็นเต็นท์นอน 1 คนที่ เหมาะอย่างยิ่งกับการใช้งานในสภาพอากาศร้อนชื้นแบบประเทศไทย เต็นท์มีพื้นที่กว้างกว่าปกติ กว้างพอจะนอน 1 คน แล้ววางของข้างในได้เลย และมีน้ำหนักที่เบาแค่ 1.45 Kg เท่านั้น (น้ำหนักรวมสมอ เชือก) 

เพราะฉะนั้น ในความเห็นผม ถ้าใครมองหาเต็นท์น้ำหนักเบา ที่คุณภาพดี และราคาไม่แพงมาก ลองพิจารณาตัวนี้ดูครับ

พีท