ไป treking แล้ว เจอพายุ ฟ้าผ่า ต้องทำยังไง

กุมภาพันธ์ 26, 2021 เทคนิคการเดินทาง

หลายๆท่านอาจจะคิดว่า การโดนฟ้าผ่าเป็นเรื่องไกลตัว พอๆ กับการถูกล็อตเตอรี่รางวัลที่ 1 …  แต่ทราบไหมครับว่า  เมื่อนับรวมทั่วโลกแล้วทุกวินาทีจะเกิดฟ้าผ่าเกิดขึ้นประมาณ 100 ครั้ง และในอเมริกามีสถิติคนเสียชีวิตจากการโดนฟ้าผ่า (ทั้งโดยตรงโดยอ้อม) ถึงประมาณปีละ 50-100 คนเลยทีเดียว 

จากข้อมูลความถี่ในการเกิดพายุฟ้าผ่าทั่วโลกก็จะเห็นว่า ประเทศไทยก็เป็นจุดหนึ่งที่พบเจอได้บ่อยครับ

เรื่องพายุฟ้าผ่านี่ ตัวผู้เขียนเองก็ยังไม่เคยเจอมาก่อน  แต่การที่เราไม่เคยเจอ ไม่ได้หมายความว่า ในชีวิตนี้จะไม่มีโอกาสได้เจอนะครับ โดยเฉพาะนักเดินทางที่คาดหวังที่จะท่องเที่ยวไปทั่วโลก … อาจจะมีวันใดวันนึง ระหว่างการเดินเทรล เกิดไปติดอยู่กลางพายุ ฝนตก ฟ้าผ่า ก็เป็นได้  … และถ้าได้เจอแล้ว ไม่รู้ว่าต้องปฏิบัติตัวอย่างไร ก็อาจจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เราเสียชีวิตได้เลย

เพื่อสร้างความเข้าใจในการป้องกันตัวจากฟ้าผ่า ก็ขอเล่าคร่าวๆก่อนละกันครับ ว่าฟ้าผ่าเกิดจากอะไร 

ฟ้าผ่าเกิดจากอะไร ?

โดยหลักการแล้วฟ้าผ่าก็คือการเกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งผ่านเมฆ 2 ก้อน  หรือ ระหว่างเมฆและอากาศรอบๆ หรือระหว่างเมฆกับพื้นดินครับ 

กระแสไฟฟ้า ก็จะเกิดจาก การที่ในเมฆรูปแบบที่เรียกว่า คิวมูโลนิมบัส (cumulonimbus มาจากภาษาลาตินนะครับ) (มีลักษณะเป็นก้อนขนาดใหญ่ บริเวณฐานเมฆจะสูงจากพื้นประมาณ 2 กิโลเมตร และส่วนยอดเมฆอาจสูงได้ถึง 20 กิโลเมตร) โดยภายในเมฆประเภทนี้จะมีการไหลเวียนของกระแสอากาศอย่างรวดเร็วและรุนแรง ทำให้หยดน้ำและ ก้อนน้ำแข็งเล็กๆในเมฆเกิดการเสียดสีกันจนเกิดประจุไฟฟ้า โดยทั่วไปมักจะมีประจุบวกที่ด้านบน และเกิดประจุลบที่ด้านล่างของเมฆ และพื้นดินใต้เมฆก็มักจะถูกเหนี่ยวนำให้เกิดประจุผิวดินด้วย

เมื่อความต่างศักย์ไฟฟ้าระหว่างเมฆกับโลกมีมากขึ้น ก็จะเกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งได้ ที่เราเรียกว่าเกิดฟ้าผ่านั่นเอง

ทราบไหมครับว่า กระแสไฟฟ้าที่เกิดจากฟ้าผ่านั้นมีความแรงถึงหลายพันแอมแปร์ และเกิดความร้อนมากกว่าความร้อนที่ผิวของดวงอาทิตย์เสียอีก

เพราะฉะนั้นไม่ต้องสงสัย ถ้าโดนฟ้าผ่าตรงๆ จะรอดไหม …  แต่ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุของการเสียชีวิตก็มักจะไม่ได้เกิดจากฟ้าผ่าตรงๆ แต่มักจะเกิดจาก Ground Current คือ กระแสไฟฟ้าผ่าบริเวณใกล้ๆ แล้วกระแสวิ่งมาตามพื้นดินจนมาถึงตัวเรา ประมาณ 40-50%  กับอีกแบบคือ  Side flash ซึ่งเป็นกระแสที่วิ่งข้ามจากจุดที่โดนฟ้าผ่า ผ่านอากาศ ออกมาด้านข้าง อีกราว 20-30 %

คำอธิบายเรื่อง Ground Current ลองดูจากรูปจะเห็นว่า ถ้าฟ้าผ่าลงมาบนต้นไม้ กระแสก็จะวิ่งต่อลงดิน ซึ่งทำให้เกิดเกิดความต่างศักย์ทางไฟฟ้าที่แตกต่างกันขึ้นตามระยะทางจากจุดที่ฟ้าผ่า ถ้ามีวัวอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ที่ขาหน้าของวัวอยู่ใกล้ต้นไม้ ขาหลังอยู่ห่างออกไปจากต้นไม้ ขาหน้ากับขาหลังจะมีความต่างศักย์ไฟฟ้าที่แตกต่างกัน ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าวิ่งจากขาข้างหนึ่ง ผ่านร่างกาย ไปลงที่ขาอีกข้างหนึ่งได้ 

ซึ่งกระแสที่วิ่งผ่านร่างกายนี่แหละครับ ที่เป็นตัวทำให้เกิดอันตราย เพราะสำหรับมนุษย์แล้ว ถ้ามีกระแสไฟฟ้าผ่านร่างกายเพียงแค่ 100มิลลิแอมแปร์ ก็มีโอกาสจะทำให้หัวใจหยุดเต้นได้แล้ว

เพราะฉะนั้นถ้าเราอยู่ไกล้บริเวณที่ฟ้าผ่า การที่เรายืนขา 2 ข้าง หรือหมอบคลานกับพื้น ทำให้มีจุดสัมผัสกับพื้นมากขึ้น ก็จะเกิดกระแสวิ่งผ่านร่างกายเราได้ครับ

อีกสาเหตุหนึ่งของอันตรายที่เกิดจากฟ้าผ่า ก็คือ การเกิด Side Flash ก็จะคล้ายๆ กับ Ground Current เพียงแต่ว่าแทนที่จะมาทางพื้นดิน คราวนี้กระแสจะโดดข้ามผ่านอากาศออกมาด้านข้าง มักจะเกิดเวลาที่ฟ้าผ่าบนวัตถุสูงที่มีความต้านทานสูง ทำให้กระแสวิ่งออกด้านข้างที่มีความต้านทานไฟฟ้าต่ำกว่าแทน

ซึ่งก็เป็นสาเหตุว่า ทำไมเวลาที่มีฟ้าผ่า ไม่ควรจะไปหลบอยู่ใต้ที่กำบัง ต้นไม้สูง นั่นเอง เพราะอาจจะโดนได้ทั้งกระแสที่มาทางพื้นดิน และวิ่งข้ามมาทางอากาศ

อันตรายที่เกิดจากฟ้าผ่าอีกแบบ ก็คือเกิดจากการสัมผัส ( Contact)   ในรูปนี้เป็นภาพฝูงวัวที่ตายจากการสัมผัสกับรั้วโลหะ เมื่อฟ้าผ่าลงที่ลวด เพราะฉะนั้น เวลาที่เกิดฟ้าผ่า ก็ไม่ควรไปอยู่ใกล้ตัวนำไฟฟ้า … สำหรับนักเดินป่าที่ต้องระวังก็คือ พวกเสาเต็นท์ครับ ถ้ากางเต็นท์ อยู่บนที่สูง เช่นยอดเขา หรือสันเขา บริเวณโล่งๆ ก็มีโอกาสที่ฟ้าจะผ่าลงมาที่เสาเต็นท์ได้ หรือถ้ามีพวกตัวน้ำไฟฟ้าอื่นๆ ก็ควรให้อยู่ห่างตัวไว้ เช่น เฟรมโลหะของเป้แบ็คแพ็ค เข็มขัด เครื่องประดับที่ทำจากโลหะ เป็นต้น

กรณีสุดท้ายที่จะกล่าวถึง ก็คืออันตรายจากฟ้าผ่าแบบที่ซวยที่สุดก็คือ โดนฟ้าผ่าโดยตรง (Direct Strike) ซึ่งสำหรับนักเดินป่า ในยามที่มีพายุ มีฟ้าผ่า ก็ควรจะหลีกเลี่ยงการอยู่บนที่สูง ไม่อยู่บนพื้นที่เปิดโล่ง ก็จะช่วยลดโอกาสในการโดนฟ้าผ่าโดยตรงได้

เมื่อเราเข้าใจว่าฟ้าผ่าเกิดจากอะไร และจะทำอันตรายกับเราได้ยังไงแล้ว … ที่นี้ก็มาดูวิธีการป้องกันบ้างครับ

หลีกหนีให้ไกลไว้ก่อน

 วิธีการที่ดีที่สุด ก็คือ … อย่าไปอยู่ในบริเวณที่ฟ้าผ่า เราควรจะหลีกหนีให้ไกลจากบริเวณที่มีฟ้าผ่าตั้งแต่แรก 

 ดูพยากรณ์อากาศก่อนออกทริป ประเด็นนี้ ถ้าเปนการเดินทางในประเทศคงไม่มีปัญหา แต่ถ้าเดินทางต่างประเทศ บางประเทศที่เราไม่เข้าใจภาษา หรือไม่มีช่องทางในการรับข่าวสาร ก็จะลำบากหน่อยครับ หรือบางทีเดินเส้นที่ใช้เวลาหลายๆ วันก็เป็นการยากที่เราจะติดตามข้อมุลพยากรณ์อากาศได้

ระหว่างการเดินทางก็ลองสังเกตุการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศประกอบ ดูลักษณะ ก้อนเมฆบนฟ้า ถ้าเห็นเมฆเป็นก้อน สูงขึ้นด้านบน มืดครึ้มมา หรือได้ยินเสียงฟ้าร้อง ก็ให้เตรียมตัวหาที่หลบไว้ก่อน 

วิธีการหนึ่งที่จะช่วยให้เราประเมินได้ว่าว่าพายุ ฟ้าผ่ากำลังใกล้เราเข้ามาหรือไม่นั้น ผู้เชี่ยวชาญเค้าแนะนำให้ใช้วิธีการดูแสงฟ้าแลบ ฟ้าผ่า  และเสียงร้องประกอบกัน แล้ววัดเวลาเป็นวินาที ระหว่างการเกิดฟ้าแลบ และเกิดเสียงตามมา

พูดง่ายๆ วัดเวลาตั้งแต่เห็นฟ้าแลบจนกระทั่งได้ยินเสียง เวลาที่วัดนี้จะช่วยบอกระยะห่างระหว่างตำแหน่งที่เราอยู่กับจุดที่เกิดฟ้าผ่าได้  โดย 1 วินาทีจะเทียบได้กับระยะทางประมาณ 300 เมตร คิดง่ายๆ 3 วินาทีก็ประมาณ  1 กิโลเมตร 

ถ้าหากเราเราเห็นฟ้าแลบแล้วได้ยินเสียง ห่างกันวัดได้ 10 วินาที  แล้วรอบต่อไป วัดได้ 9 หรือ 8 หรือ 7 วินาที นั่นเป็นสัญญาณว่าพายุกำลังวิ่งมาทิศทางที่เราอยู่ครับ

หลักการอีกอย่างที่นิยมใช้กันเรียกว่า กฏ30/30 กฏนี้กล่าวว่า  ถ้าจับเวลาตามวิธีข้างต้น แล้วได้น้อยกว่า 30 วินาที ก็ให้เตรียมหลบในที่ปลอดภัยได้เลย และเมื่อหลบแล้วก็ให้รอจนกว่าเสียงฟ้าร้องครั้งสุดท้ายจะผ่านไปแล้ว 30 นาที ถึงค่อยออกมาได้ครับ

จริงๆแล้วฟ้าผ่าก็คือ กระแสไฟฟ้า เพราะฉะนั้นมันก็จะวิ่งไปทางที่มีความต้านทานต่ำ (ระยะทางนี้โดยทั่วไปก็จะเป็นระยะทางที่สั้นที่สุด)  เราคงทราบกันดีว่าที่สูง อย่างเช่น ยอดเขา หรือต้นไม้สูง มักจะโดนฟ้าผ่าก่อน ก็ด้วยเหตุที่ว่าระยะทางมันสั้นที่สุดถ้านับจากประจุบวกที่ด้านล่างของก้อนเมฆ 

วัตถุที่มีสภาพเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดีเช่น โลหะ น้ำ หรือต้นไม้ (มีส่วนประกอบของน้ำ) ก็เป็นจุดที่เราควรจะอยู่ให้ห่างกรณีที่เกิดพายุที่มีฟ้าผ่า

ถ้าหลบพายุไม่ทันแล้ว จะทำยังไง

🔹 ออกให้ห่างจากยอด หรือสันเขา ถอยลงมาให้ต่ำกว่าจุดสูงสุดเพียงเล็กน้อย ก็ลดโอกาสที่จะโดนฟ้าผ่าได้มาก

🔹 หลีกเลี่ยงการอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง

🔹 หลีกเลี่ยงพวกถ้ำ โพรง ตื้นๆ เพราะว่ากระแสสามารถโดดข้ามช่องว่างอากาศมาช็อตคนที่อยู่ระหว่างช่องว่างนั้นได้

🔹 ออกให้ห่างจากต้นไม้โดดๆ หรือวัตถุสูงๆ เนื่องจากวัตถุสูงๆ มีโอกาสโดนฟ้าผ่าได้มากกว่า และถ้าเราอยู่ใกล้ๆ เราก็จะโดนกระแสไฟที่วิ่งมาตามพื้นดินด้วย

🔹 ออกให้ห่างจากพวกโลหะ หรือ พวกที่เป็นน้ำ ทั้งสองอย่างเป็นตัวน้ำไฟฟ้าที่ดี และจะดึงดูดฟ้าผ่า ถ้าใช้เต็นท์ที่เสาเป็นโลหะ แล้วอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการโดนฟ้าผ่า ไม่ว่าจะเป็นยอดเขา สันเขา ที่เปิดโล่ง หรือใต้ต้นไม้สูง ก็ให้เก็บเต็นท์ แล้วไปหาที่ปลอดภัยหลบแทน อุปกรณ์อื่นๆที่เป็นโลหะ ก็ควรเก็บให้ห่างตัว

🔹 ถ้าเป็นไปได้ หาฉนวนมารองตัวให้ออกห่างจากพื้น ไม่ให้เท้าสัมผัสพื้นโดยตรง อาจจะเป็นแผ่นรองนอน หรือถุงนอนก็ได้ (เฉพาะกรณีที่ไม่เปียกนะครับ) แล้วใช้ท่าที่เรียกว่า Lightning Position คือให้ นั่งย่อตัว ยกส้นเท้าขึ้น ให้ส้นเท้าแตะกัน เผื่อกรณีเกิดกระแสไฟวิ่งมาตามพื้น กระแสจะวิ่งผ่านช่วงส้นเท้าที่ติดกันได้เลย โดยไม่วิ่งผ่านร่างกายเรา และใช้มืออุดหูเพื่อป้องกันอันตรายที่เกิดจากเสียงฟ้าผ่า 

คำเตือน วิธีนี้เป็นการเสริมกรณีที่เราหลบในที่ปลอดภัยทีสุดที่หาได้แล้ว แต่ยังมีโอกาสได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าอยู่นะครับ ไม่ใช่วิธีหลัก เดี๋ยวจะนึกว่า ฟ้าผ่า แล้วนั่งอยู่ที่เดิมแล้วทำท่านี้ ก็จะรอดได้

ท่า Lightning Position

🔹 เมื่อเดินทางเป็นกลุ่ม ให้กระจายกันให้ห่าง ราว 10 เมตรหรีอมากกว่า  เผื่อกรณีที่มีคนโดนฟ้าผ่า จะได้ช่วยเหลือกันได้

🔹 ถ้ามีคนถูกฟ้าผ่า และหัวใจหยุด ก็ทำการปั๊มหัวใจ (CPR) แน่นอนว่าคุณต้องรู้ก่อนนะครับ CPR ที่ถูกทำยังไง

🔹 ถ้าอยู่กลางแจ้ง พื้นที่ที่ดีที่สุด ก็คือไปหลบอยู่ในกลุ่มต้นไม้

 🔹 ถ้าไม่มีป่าให้เข้าไปหลบ มีแต่พื้นที่โล่งๆ กับต้นไม้เดี่ยวๆ โดดๆ วิธีที่ดีที่สุดที่ทำได้คือ การการนั่งยองๆ หลบอยู่ ด้วยท่า  Lightning Position ตรงบริเวณ ที่เรียกว่า Cone of protection

Cone of protection คือเส้นกลมในจินตนาการ ที่เราลากจาก ต้นไม้เดี่ยวๆ หรือ ยอดเขา

สมมุติว่าต้นไม้สูง 20 เมตร ให้เราลากเส้นทำมุม 45 องศาจากยอดไม้ลงไปที่พื้นดิน เส้นรอบวงที่เกิดขึ้นนี้แหละครับที่เรียกว่า Cone of Protection 

ในทางทฤษฏีแล้ว นักเดินทางจะปลอดภัยมากกว่าถ้าอยู่ที่บริเวณขอบเส้นนี้ มากกว่าที่จะไปหลบอยู่ใต้ต้นไม้ หรือออกห่างจากต้นไม้มากๆ ไปอยู่ในที่โล่ง

ถ้าไม่มีอะไรผิดพลาด เวลาฟ้าผ่าลงมา ก็จะไปผ่าลงที่ต้นไม้ ในขณะที่ตัวเราก็จะอยู่ห่างจากต้นไม้ในระดับที่กระแสจะวิ่งมาไม่ถึงเรา

วิธีการทั้งหมดที่กล่าวไปนั่นแหละครับ ที่จะช่วยให้เราเอาตัวรอดจากอันตรายของฟ้าผ่าได้ ในสภาวะที่ติดอยู่กลางพายุ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเกิดประโยชน์กับเพื่อนนักเดินทางทุกท่านบ้าง … ไม่มากก็น้อยครับ

พีท

อ้างอิง

หนังสือ The National Outdoor Leadership School’s Wilderness Guide: The Classic Handbook  ของ Harvey, Mark W. T..

บทความเรื่อง Backcountry Lightning Risk management โดย John Gookin

บทความเรื่อง How to Stay Safe from Lightning in the Backcountry โดย Joel Gratz

บทความเรื่อง Thunderstorm