ไปตั้งแค้มป์ เดินป่า ต้องเอาเชื้อเพลิงไปเท่าไหร่ดี ?

พฤษภาคม 11, 2019 เทคนิคการเดินทาง

เชื้อเพลิงจัดเป็นอุปกรณ์ประเภทใช้แล้วหมดไปที่มีความสำคัญมากในการเดินป่า ตั้งแค้มป์ นะครับ สำหรับนักเดินป่าส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้ไม้ตามธรรมชาติมาเป็นเชื้อเพลิง (ซึ่งผมก็แนะนำแบบนั้น) ก็จะต้องพกเชื้อเพลิงติดตัวไปด้วยเพื่อใช้ในการประกอบอาหาร หรือต้มน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแก็ส น้ำมัน หรือแอลกอฮอล์  ซึ่งน้ำหนักของเชื้อเพลิงอาจะจะมากกว่า หัวเตา หรือหม้อชาม เสียด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้น ถ้าเราพกเชื่อเพลิงไปมากเกินไป แล้วใช่ไม่หมด เราก็ต้องแบกกลับลงมาด้วย และถ้าเราพกน้อยเกินไป ก็อาจจะไม่พอใช้ในการประกอบอาหาร ดังนั้นการกะปริมาณเชื้อเพลิงที่จะเอาไปใช้ด้วย จึงมีความสำคัญมากสำหรับนักเดินทาง

โดยในบทความนี้ ผมขอยกตัวอย่าง เชื้อเพลิงประเภท แก็ส (Gas Canister)  แบบกระป๋องที่เรามักจะเรียกกันติดปากว่า แก็สซาลาเปา มาเป็นตัวอย่างการคิดนะครับ เพราะปัจจุบันตัวเชื้อเพลิงประเภทนี้ เป็นที่นิยมมากในหมู่นักเดินป่าทั้งในประเทศ และต่างประเทศ เนื่องจาก หาซื้อได้ง่าย (สมัยก่อนยากนะครับ แต่เดี๋ยวนี้มีขายหลายที่แล้ว ที่ร้านผมก็มี ลองดูที่นี่) ตัวกระป๋องมีความแข็งแรงสูง สามารถอัดปริมาณแก็สได้มาก  เรียกว่ากระป๋องเดียวก็อยู่ได้หลายวันเลย นอกจากนั้นเชื้อเพลิงประเภทแก็ส ก็เป็นเชื้อเพลิงที่ใช้ได้ง่าย ปลอดภัยมากกว่า อีกทั้งทำให้เกิดมลพิษน้อย รวมถึงอัตราการเสื่อมสภาพของหัวเตาก็ต่ำกว่าพวกเตาน้ำมัน อีกด้วย

ทำความเข้าใจกับน้ำหนักของแก็สซาลาเปากันก่อน

ปกติแก็สซาลาเปาที่ขายกันจะมีอยู่ 3 นะครับ ขนาด 100/110 กรัม (แล้วแต่ยี่ห้อ)  230 กรัม และ 450 กรัม

โดยน้ำหนักข้างต้น คือน้ำหนักเฉพาปริมาณแก็สในกระป๋อง (Net Weight) นะครับ ยังไม่รวมน้ำหนักกระป๋องด้วย เพราะฉะนั้น แก็สซาลาเปา 230 กรัม น้ำหนักจริงๆที่เราจะต้องแบกไปด้วยก็จะต้องมากกว่านั้น

โดยที่น้ำหนักของแก็สซาลาเปา แต่ละยี่ห้อก็จะไม่เหมือนกันนะครับ ขอยกตัวอย่าง แก็สยี่ห้อ Jetboil จะมีน้ำหนักตามนี้

ไปตั้งแค้มป์ เดินป่า ต้องเอาเชื้อเพลิงไปเท่าไหร่ดี ?

อย่างที่เห็น บางท่านอาจจะเคยคิดว่าเอาแก็ส 230 กรัมไป 2 กระป๋อง นะหนักแค่ 460 กรัม แต่จริงๆ แล้ว น้ำหนัก มันคือ 730 กรัมเลยนะครับ ถือว่าเป็นน้ำหนักที่มีนัยสำคัญในการพิจารณาเลยทีเดียว

ควรจะเตรียมแก็สไปกี่กระป๋องดี

จากข้อมูลน้ำหนักของแก็สซาลาเปาที่นำเสนอไป แล้วก็คงจะเห็นแล้วว่า แก็สกระป๋องนึงน้ำหนักไม่เบาเลยนะครับ  ลองนึกถึงเวลาจะออกทริป 3 วัน สมาชิกเดินทาง 2 คน ดูก็ได้ครับ แล้วถามตัวเองว่าเราควรจะแก็สไปกี่กระป๋องดี ?

ในการประมาณว่าจะต้องเตรียมแก็สไปกี่กระป๋องนั้น ? มีหลักการง่ายๆ คือ

  • เราต้องรู้ว่าในแก็สซาลาเปา 1 กระป๋อง มีแก็สอยู่กี่กรัม
  • ในการประกอบอาหารแต่ละมื้อเราใช้แก็สประมาณกี่กรัม
  • เมื่อเรารู้เช่นนี้แล้ว เราก็จะสามารถคำนวณได้ว่า เราต้องเตรียมแก็สไปกี่กระป๋องครับ เช่น ถ้าเรารู้ว่า 1 มื้อ เราใช้แก็สไป 30 กรัม  ถ้าเราเดินทางต้องเตรียมอาหาร 6 มื้อเราก็ใช้แก็ส 180 กรัม ซึ่งแก็สขนาด 230 กรัม ก็เพียงพอต่อการใช้งานครับ

ผมยกตัวอย่างแก็สซาลาเปา ขนาด 230 กรัม ที่เป็นขนาดที่นิยมใช้กันมากที่สุดละกันนะครับ ท่านผู้อ่าน อาจจะคาดหวังให้ผมสรุปให้ฟังเลยว่า แก็สกระป๋องขนาด 230 กรัม ทำอาหารได้กี่มื้อ แต่ผมคงต้องทำท่านผู้อ่านผิดหวัง เพราะว่าผมเองก็ไม่สามารถบอกได้ สาเหตุเพราะ แก็สแต่ละยี่ห้อ มีหลายส่วนผสมครับ บางอันเป็นบิวเทน อย่างเดียว บางอันเป็นแก็สผสม (เพื่อทำให้ใช้งานในสภาพอากาศหนาวเย็นได้ดีขึ้น) ทำให้ค่าความร้อนที่ออกมาของแก็สแต่ละยี่ห้อ แตกต่างกันได้ อีกทั้ง ชุดหัวเตา แต่ละรุ่นก็มีประสิทธิภาพในการเผาไหม้ที่แตกต่าง วัสดุหม้อ ขนาดหม้อ และ การเคลือบผิว ทำให้หม้อได้รับความร้อนที่แตกต่างกัน หม้อแบบปกติ อาจจะใช้เวลา 3 นาทีในการต้มน้ำ 1 ลิตร แต่หม้อแบบประหยัดพลังงานที่มีการทำครีบที่ก้นหม้อเพื่อเพิ่มพื้นที่การรับความร้อนให้มากขึ้น อาจจะใช้เวลา แค่ 2 นาที ก็ได้ครับ อีกทั้งอาหารที่ทำกินในแต่ละมื้อก็ปริมาณแตกต่างกัน บางคนแค่ต้มน้ำร้อน ใส่มาม่ากิน บางคนจุดไฟผัดกับข้าวเป็นจริงจัง … แล้วจะวัดอย่างไรละว่า แก็สกระป๋องนึงทำอาหารกินได้กี่มื้อ … เพราะฉะนั้น มันไม่มีสูตรตายตัวครับ เราต้องทดลองเองด้วยชุดอุปกรณ์ของเรา ถึงจะรู้

ใช้คณิตศาสตร์มาช่วย

ในการประมาณ เพื่อความง่าย เรามักจะหาเทียบเป็นหน่วยของการต้มน้ำ ว่าแก็ส 1 กระป๋องต้มน้ำปริมาณหนึ่งให้เดือดได้กี่ครั้ง โดยเราต้องประมาณก่อนว่าสำหรับ 1 คน ใน 1 มื้อ ต้องใช้น้ำกี่ มิลลิลิตร (ml) อันนี้โดยทั่วไปมักจะใช้กันอยู่ที่ 500 ml เนื่องจากเป็นปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการใช้เติมกับอาหารฟรีซดราย

วิธีการ ก็คือ เอาแก็สกระป๋อง จะใช้แล้วหรือยังเป็นของใหม่ก็ได้ มาชั่งน้ำหนักดูก่อน สมมุติผมใช้แก็สซาลาเปาขนาด 230 กรัม  เนื่องจากเป็นแก็สที่ผ่านการใช้มาแล้ว เอามาชั่งได้น้ำหนัก 320 กรัม

แล้วเราก็เอา ชุดหม้อ กับหัวเตาที่เราจะเอาไปใช้ในการเดินทาง มาจุดไฟต้มน้ำ จนเดือด (เดือดแค่ไหนก็กะเอานะครับ ไม่ต้องถึงกับเอาเทอโมมิเตอร์มาวัดก็ได้ ของผมเอาแค่มีฟองขึ้นปุดๆ) พร้อมกับจับเวลา ตั้งแต่เริ่มต้มจนเดือดว่ากี่นาที สมมุติว่าใช้เวลา 3 นาที ในการต้มน้ำขนาด 500 ml จนเดือด

หลังจากนั้นเราก็เอาแก็สกระป๋องที่จุดเมื่อกี้มาชั่งน้ำหนักใหม่ เพื่อที่จะหาว่า เราใช้แก็สไปกี่กรัมในการต้มน้ำจนเดือด ผมสมมุติว่า ชั่งได้ 310 กรัม เมื่อเทียบกับตอนแรกก่อนใช้ต้มที่ชั่งได้ 320 กรัม แสดงว่าเราใช้แก็สไป 10 กรัมในการต้มน้ำขนาด 500 ml จนเดือด

แก็สใหม่ยังไม่เคยผ่านการใช้งานเลย กระป๋องขนาด 230 กรัม มีแก็สบรรจุอยู๋ 230 กรัม ถ้าใช้ชุดเตา หม้อ ที่เราทดลองนี้ ก็หมายความว่า ใน 1 กระป๋องเราต้มน้ำ 500 cc ได้ 23 ครั้ง เผื่อหลือเผื่อขาด ก็ตีไว้ซัก 20 ครั้งก็ได้ครับ  และเราก็จะได้เวลาในการเผาไหม้ (Burn Time) รวมทั้งกระป๋องที่ ประมาณ 20 ครั้ง x 3 นาที ก็จะเป็นราว 60 นาที

ตอนนี้เรารู้แล้วว่าด้วยชุดอุปกรณ์ที่เรามี เราเผาแก็สได้ประมาณ 60 นาที และต้มน้ำ 500 ml ได้ประมาณ 20 ครั้ง ขั้นตอนต่อไปคือเราต้องกะว่า มื้อนึง เราจะใช้แก็สซักกี่นาที หรือต้มน้ำซักกี่ครั้ง

สมมุติ ทริปผมเดินทางคนเดียว 3 วัน
วันแรก 2 มื้อ กลางวัน กับเย็น (เช้ากินข้าวตลาดเอา ก่อนเริ่มเดิน)
วันที่สอง 3 มือ เช้า กลางวัน เย็น
วันที่สาม 2 มื้อ เช้า กับ กลางวัน (เย็นกลับลงมาจากเขาแล้ว กินในเมือง)

ถ้าแบบนี้ ในการเดินทางครั้งนี้ ผมก็จะมีทั้งหมด 7 มื้อ หมายถึง ผมต้องต้มน้ำ 7 ครั้ง แสดงว่า ผมเอา แก็สขนาด 230 กรัมไปก็พอเหลือเฟือ เพราะแก็สประป๋องนึงต้มน้ำได้ถึง 20 ครั้ง และถ้าเกิด ผมมีนิสัยต้องต้มน้ำกินกาแฟ ทุกเช้าผมก็ต้องต้มน้ำเพิ่มอีก 2 ครั้ง ทั้งทริปก็จะเป็น ต้มน้ำ 9 ครั้ง … แก็สกระป๋องนึงก็ยังพอเหลือเฟือ และพอจบทริปก็น่าจะมีแก็สเหลืออีกราวครึ่งกระป๋อง

ถ้าลักษณะนี้ ลองพิจาณาดูว่า หาแก็สกระป๋องขนาด 100 กรัมได้ไหม เพราะจะลดน้ำหนักกระป๋องแก็สที่ต้องเอาไปได้อีกราว 15-180 กรัมเลยทีเดียวครับ แต่ถ้าใครอยากจะเผื่อหลวมๆไว้จะเอาแก็สกระป๋องขนาด 230 กรัมไปใช้ก็ไม่ได้ผิดอะไรครับ

ถ้าไปหลายคนก็อย่าลืมคูณจำนวนคนเพิ่มเข้าไปด้วยนะครับ สมมุติทริปเดิม 3 วัน แต่คราวนี้ ผมพาเพื่อนไปอีก 4 คน คิดซะว่าทุกคนกินเหมือนๆกันผม ก็จะกลายเป็น ต้มน้ำ 9 ครั้ง x 4 = 36 ครั้ง ก็ต้องใช้แก็สกระป๋อง 230 g จำนวน 2 กระป๋อง

หรือใครอยากให้น้ำหนักเบาลงอีกก็เอา แก็สกระป๋อง 450 กรัม ไปแทนก็ได้ เพราะจากที่คิดมาแก็สขนาด 450 กรัม ก็จะต้มน้ำ 500 ml ได้ 45 ครั้ง ซึ่งน้ำหนักแก็สขนาด 450 กรัม กระป๋องเดียวจะเบากว่าแก็ส 230 กรัม 2 กระป๋องครับ

อันนั้นคือตัวอย่างกรณีที่คิดง่ายๆ ตามการต้มน้ำนะครับ แต่ถ้าใครจัดหนักในการทำอาหาร แนะนำว่า ต้องใช้การประเมินเวลาเผาไหม้มาคิดแทน กล่าวคือต้องกะให้ได้ว่าทำอาหารมื้อนึงใช้เวลาในการเผาไหม้กี่นาที แล้วก็เอามาหารกับที่เราวัดไว้ว่า แก็สกระป๋อง 230 กรัม เผาไหม้ได้นาน 60 นาที เราก็จะได้ว่าออกมาว่าแก็สกระป๋องหนึ่ง เราทำอาหารได้กี่มื้อ

ข้อแนะนำ สิ่งที่จะมีผลต่อการประมาณ

เนื่องจากวิธีการคิดแบบนี้เป็นการประมาณ ซึ่งในภาคสนามจริง จะมีปัจจัยอื่นที่มีผลต่อปริมาณแก็สที่ใช้ จึงควรเพื่อปริมาณแก็สไว้ระดับนึง โดยพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ด้วยครับ

  • ต้องดูประเภทของเชื้อเพลิงด้วยนะครับ เนื่องจากแก็สมันมีหลายประเภท บิวเทน โพรเพน ไอโซโพรเพน เอามาผสมกันก็มี แต่ละตัวให้พลังานความร้อนแตกต่างกัน บางตัวพอเอาไช้ในที่อากาศเย็นจัดจะเปลี่ยนตัวเองเป็นแก็สได้ไม่ดี ความสามารถในการเผาไหม้ก็จะลดลง
  • โดยข้อเท็จจริงแล้ว แก็สกระป๋องยิ่งใช้ไปนานๆ เข้า แรงดันในกระป๋องจะต่ำลง ทำให้ประสิทธิภาพแก็สลดลงเล็กน้อย
  • ระดับความสูง และอุณหภูมิ สภาพแวดล้อมมีผลต่อ ระยะเวลาในการต้มน้ำในสภาพจริง พูดง่ายๆ คือ ต้มน้ำที่ กรุงเทพ กับต้มน้ำบนยอดเขาสูง ใช้เวลาไม่เท่ากัน ต้มน้ำที่อุ่นอยู่แล้ว กับต้มน้ำที่เย็นจัด ก็ใช้เวลาไม่เท่ากัน ปริมาณแก็สที่ใช้ก็แตกต่างกัน ถ้าอากาศเย็นก็ต้องใช้แก็สที่มากยิ่งขึ้นในการต้มน้ำ

บทส่งท้าย

การกะปริมาณเชื้อเพลิงให้แม่นยำเป็นส่วนสำคัญที่จะลดน้ำหนักลงได้อย่างมีนัยยะสำคัญเลยทีเดียวนะครับ ซึ่งหลักการที่ผมเล่าให้ฟังนี่ก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้คำนวณได้กับเชื้อเพลิงทุกประเภท ลองนึกดูว่า ถ้าเดินเทรล 7 วัน เอาแก็ส 230 กรัม ไปเกิน 1 กระป๋อง ก็หมายความว่าคุณต้องแบกน้ำหนักเกือบ 400 กรัม เดินตั้งแต่ต้นจนจบเลย และถึงแม้จะเป็นกระป๋องที่ใช้หมด คุณก็ต้องแบกกระป๋องเปล่าที่มีน้ำหนักราว 130 กรัม ติดตัวไปตลอดการเดินทาง เพราะฉะนั้นผมเชื่อเหลือเกินว่าหลักการประมาณจำนวนแก็สที่ต้องเอาไปด้วยนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับนักเดินทางที่เน้นน้ำหนักเบาทุกท่านครับ

แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไป ขอบคุณที่ติดตามครับ

พีท