ความรู้เบื้องต้นสำหรับเลือกแผ่นรองนอน

หน้าที่หลักของแผ่นรองนอน (Sleeping pad) คือเพิ่มความนุ่มและสบายระหว่างการนอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบนพื้นที่แข็งและไม่เรียบเช่นเวลากางเต้นท์ในบริเวณที่มีก้อนหินหรือรากไม้อยู่ทั่วไป ในกรณีที่ตั้งแคมป์ในที่ที่มีอากาศหนาวเย็นจัด มีหิมะตก (Cold weather camping) นอกจากนั้นยังช่วยเพิ่มความอบอุ่นโดยทำหน้าที่เป็นฉนวนป้องกันการถ่ายเทเความร้อนจากร่างกายลงสู่พื้นดินที่เย็นกว่ามาก โดยปกติพื้นดินหรือหินสามารถดูดความร้อนจากร่างการได้ดีกว่าการถ่ายเทความร้อนจากร่างกายสู่อากาศประมาณ 40-50 เท่า ดังนั้นจึงถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับระบบเครื่องนอน (Portable sleeping system)

ในกรณีที่อุณหภูมิแวดล้อมต่ำ ความสามารถในการป้องกันการถ่ายเทความร้อนจากร่างกายจะบอกด้วยค่า R-value ซึ่งปกติมีค่าอยู่ระหว่าง 1 ถึง 9.5 เมื่อค่า R-value มากแผ่นรองนอนจะป้องกันการถ่ายเทความร้อนได้ดีดังนั้นจะเพิ่มความอบอุ่นระหว่างการนอนได้ดีขึ้น การสูญเสียความร้อนจากร่างกายทำให้เกิดอาการหนาวสั่น (Shivering) ทำให้นักเดินทางนอนหลับได้ไม่เต็มที่ ตื่นบ่อย เกิดความเหนื่อยล้าสะสม การสูญเสียความร้อนระหว่างนอนนั้นหากเกิดมากเกินไปอาจส่งผลให้เกิดภาวะอุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าปกติ (Hypothermia) ซึ่งเป็นอันตรายต่อตัวนักเดินทางได้อย่างมาก

 

comfortable-sleeping-pad-01

แผ่นรองนอนเพิ่มความนุ่มสบายและความอบอุ่นระหว่างการนอน

 

ปกติจะใช้ร่วมกับถุงนอนโดยวางอยู่ด้านล่างของถุงนอนและบนแผ่นพื้นของเต็นท์ หากได้รับการออกแบบให้มีขนาดพอดีตัวนักเดินทางสามารถสอดแผ่นรองเข้าไปด้านในของถุงนอนได้ นักเดินทางยังสามารถใช้นอนในอาคารบ้านเรือนในกรณีที่นอนบนพื้นห้องที่แข็งอีกด้วย โดยทั่วไปจะแบ่งออกเป็น 3 ชนิดได้แก่

แผ่นรองนอนชนิดโฟม (Foam pad) ทำจากโฟมที่มีช่องว่างแบบปิดพรุนในเนื้อโฟม (Closed cell foam: CCF) ตัดให้เป็นทรงรองรับร่างกาย แผ่นรองนอนชนิดนี้มีน้ำหนักค่อนข้างเบา (400-700 กรัม) ราคาถูก มีความทนทานและแข็งแรงดี ไม่รั่ว ใช้ได้ดีกับสภาพพื้นที่ที่มีหินแหลมคม หนาม กิ่งหรือรากไม้ที่แข็ง แผ่นรองนอนโฟมหนาประมาณ 1.5-2.5 เซนติเมตร อย่างไรก็ตามวัสดุโฟมนั้นบีบอัดและคืนตัวได้น้อยดังนั้นเมื่อพับหรือม้วนแล้วจะมีขนาดใหญ่เทอะทะ (เส้นผ่าศูนย์กลาง 20-30 เซนติเมตร) แผ่นรองนอนชนิดนี้จะมีค่าความเป็นฉนวนการถ่ายเทเความร้อนจากร่างกายลงสู่พื้นดินที่ต่ำ (R-value = 1.5-2.5) จึงไม่เหมาะกับการใช้งานโดยลำพังในสภาพอากาศที่เย็นจัดอุณหภูมิต่ำกว่าจุดเยือกแข็ง เช่น บนยอดเขาสูง หรือบริเวณที่มีหิมะตก โดยปกติเราจะเห็นแผ่นรองนอนลักษณะนี้ถูกพับหรือม้วนติดและห้อยอยู่ที่ภายนอกด้านล่างของเป้สะพายหลัง (ราคา 200-800 บาท)

 

foam-sleeping-pad

แผ่นโฟมมีค่า R-value ต่ำและม้วนเก็บแล้วมีขนาดใหญ่เทอะทะ

 

แผ่นรองนอนแบบอากาศ (Air construction pad) มีลักษณะเป็นถุงลมมีโครงสร้างเฟรมภายในเชื่อมต่อถึงกันทั้งแผ่น ทำจากวัสดุใยสังเคราะห์น้ำหนักเบา (Lightweight synthetic) ปกติมีน้ำหนักประมาณ 300-700 กรัม ความหนาขณะใช้งานประมาณ 4 ถึง 8 เซนติเมตร เมื่อจะใช้งานก็เป่าลม แล้วตัวแผ่นก็จะพองตัวขึ้น จุกเป่าลมจะมีวาล์วปิดเปิดสำหรับอัดอากาศเข้าและปล่อยอากาศออก เราสามารถปรับความหนาและความแข็งได้เล็กน้อยโดยการเพิ่มหรือลดแรงดันในตัวแผ่นเอง เมื่อไม่ได้ใช้งานสามารถพับม้วนเก็บโดยมีขนาดพับเก็บเล็ก (บางรุ่นมีขนาดเล็กพอๆกับกระป๋องน้ำอัดลม) และสามารถเก็บในเป้สะพายหลังได้โดยสะดวก ถุงนอนแบบอากาศมีค่าความเป็นฉนวนความร้อนที่ดี R-value = 2.5-5 จึงสามารถใช้งานได้ดีกับภูมิอากาศเย็น นอกจากนั้นอากาศที่อัดอยู่ด้านในประกอบกับความยืดหยุ่นของวัสดุทำให้การนอนนุ่มสบายมากขึ้น นักเดินทางอาจจะไม่รู้สึกเลยว่ามีก้อนหินหรือรากไม้เล็กๆอยู่ที่พื้นเมื่อนอนบนแผ่นรองแบบอากาศที่มีความหนาเพียงพอ ข้อด้อยประการหนึ่งของแผ่นรองนอนแบบนี้คืออาจถูกหิน รากใม้ที่มีลักษณะแหลมคมเจาะทะลุและรั่วได้ โดยปกติบริษัทผู้ผลิตจะมีชุดอุปกรณ์ซ่อม (Repair kit) จำหน่ายสำหรับปะรอยรั่ว อย่างไรก็ตามในกรณีฉุกเฉินสามารถใช้เทปผ้ากาว (Duct tape) แปะรอยรั่วชั่วคราวได้ นอกจากนั้นแผ่นรองนอนแบบอากาศที่ทำจากวัสดุบางประเภทอาจมีเสียงอาจดังรบกวนบ้างเมื่อพลิกตัวระหว่างนอน โดยทั่วไปแบบนี้จะมีราคาสูงกว่าแบบโฟมแต่ถูกกว่าแบบขยายตัวได้เอง (ราคา 2000-4000 บาท)

 

air-construction-pad-01

air-construction-pad-02

แผ่นรองนอนแบบอากาศน้ำหนักเบา และลักษณะโครงสร้างเฟรมภายในเชื่อมต่อถึงกัน

 

แผ่นรองนอนแบบขยายด้วยตัวเอง (Self-inflating pad) ประเภทนี้โครงสร้างภายในทำจากโครงสร้างโฟมที่บีบอัดตัวได้พอสมควรแทรกตัวอยู่ในแผ่นจากวัสดุใยสังเคราะห์ เวลาม้วนพับเก็บแผ่นจะยุบตัวลงได้มากแต่หากคลี่แผ่นออกโครงสร้างโฟมจะยกตัวขึ้นพร้อมกับดูดอากาศเข้าไปในช่องว่างระหว่างเฟรม ผู้ผลิตที่ใช้เทคโนโลยีนี้เป็นรายแรกได้แก่ Therm-a-rest จากสหรัฐอเมริกา โครงสร้างโฟมและอากาศภายในทำให้แผ่นชนิดนี้นุ่มสบายและทำหน้าเป็นฉนวนเพื่อลดการถ่ายเทความร้อนจากร่างกายสู่พื้นดิน ผู้ใช้งานอาจต้องเป่าลมเพิ่มเข้าไปในแผ่นเพื่อให้มีความแข็งที่เหมาะสม แผ่นชนิดนี้มีความหนา 4 ถึง 8 เซนติเมตร โดยปกติมีน้ำหนักประมาณ 700-1300 กรัม ขนาดเมื่อพับม้วนเก็บจะใหญ่กว่าแผ่นรองนอนแบบอากาศแต่จะเล็กกว่าแบบโฟม เมื่อไม่ใช้งานและจะพับเก็บผู้ใช้ต้องรีดลมออกจากแผ่นขณะที่ทำการพับม้วนซึ่งจะใช้เวลามากกว่าแผ่นรองนอนแบบอากาศตามปกติ อย่างไรก็ตามปัญหาที่พบได้บ่อยครั้งหลังจากใช้แผ่นรองนอนชนิดนี้ไปเป็นเวลานานคือ โครงสร้างเฟรมภายในจะพองตัวได้น้อยลงทำให้ความสามารถในการดูดอากาศเข้าของแผ่นเสื่อมสภาพและแผ่นพองตัวเองได้ไม่เต็มที่ นักเดินทางจำเป็นต้องเป่าลมเพิ่มมากขึ้นจึงจะใช้งานได้ตามปกติ แผ่นรองนอนแบบพองตัวเองอาจถูกวัตถุที่มีลักษณะแหลมคมเจาะทะลุและรั่วได้ เหมือนกับแผ่นรองนอนแบบเป่าลม (ราคา 2000-4000 บาท)

 

self-inflating-pad

แผ่นรองนอนแบบขยายตัวเอง โครงสร้างภายในทำจาก

โครงสร้างโฟมซึ่งยกตัวขึ้นและดูดอากาศเข้าแผ่นเมื่อคลี่ออก

 


หลักการเลือกชนิดแผ่นรองนอนที่เหมาะสมสำหรับการเดินทาง

1. จัดความสำคัญก่อนหลังของสิ่งที่ที่นักเดินทางต้องการจากแผ่นรองนอน กล่าวคือ ความนุ่มสบายและความอบอุ่นของแผ่น ความทนทาน ราคา น้ำหนักและลักษณะพิเศษอื่นๆที่เหมาะสมกับความต้องการ เช่น ต่อเชื่อมแผ่นรองสองแผ่นให้เป็นแผ่นเดียว

2. พิจารณาถึงพื้นที่ใช้งานของแผ่น หากเป็นพื้นเรียบเช่นดินอ่อนหรือหญ้านุ่มๆ แผ่นรองนอนแบบบางก็เป็นตัวเลือกที่ดี หากพื้นที่นั้นแข็ง เป็นหินตะปุ่มตะป่ำ มีรากไม้ พื้นเย็นจัดเป็นหิมะหรือน้ำแข็ง แผ่นรองที่มีความหนามากจะเหมาะสมกว่า นักเดินทางที่ปวดหลังระหว่างการนอนได้ง่ายควรเลือกใช้แผ่นรองนอนแบบหนาจะดีกว่า

3. น้ำหนักของแผ่นรองนอนเป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งสำหรับการพิจารณา หากต้องบรรทุกของอย่างอื่นที่หนักอยู่แล้วในเป้ เช่น อุปกรณ์กล้องถ่ายรูป อุปกรณ์ปีนเขา อาหาร เครื่องครัว นักเดินทางอาจจะเลือกลดน้ำหนักและขนาดของแผ่นรองนอนลง เช่นใช้แผ่นรองนอนแบบอากาศเบาพิเศษ (แผ่นรองนอนที่มีค่า R-value มากกว่า 3 แต่น้ำหนักเบาประมาณ300 g ก็มีจำหน่ายในท้องตลาด) หรืออาจเลือกใช้แผ่นรองชนิดสั้นคือยาวประมาณ 3ใน 4 ของร่างกายและใช้เป้หรือเสื้อผ้าที่ไม่ได้ใช้รองส่วนขาที่ยาวเกินแผ่นรองนอนออกไป

 

reduce-weight

การใช้แผ่นรองนอนชนิดสั้นและใช้แบ็กแพ็ครองส่วนของร่างกายที่เลยแผ่นออกไปเพื่อลดน้ำหนักบรรทุก

 

size-of-sleeping-pad

แผ่นรองนอนต่างชนิดมีน้ำหนักและขนาดพับเก็บแตกต่างกันได้อย่างมาก

 

4. เลือกแผ่นรองนอนให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ หากเดินทางในสภาพอากาศเย็น พื้นเย็นจัดต่ำกว่าจุดเยือกแข็งมีหิมะตก ควรจะใช้แผ่นรองนอนที่มีค่า R-value มากกว่า 5 (สำหรับกรณีทั่วไป) หรือ 6 (สำหรับนักเดินทางที่รู้สึกหนาวได้ง่าย) เพื่อให้รู้สึกสบายเวลานอน หากแผ่นรองที่หาซื้อได้สำหรับค่า R-value ดังกล่าวมีขนาดใหญ่หรือน้ำหนักมากเกินไป นักเดินทางสามารถใช้แผ่นที่มีค่า R-value ต่ำและเบากว่าจากนั้นใช้แผ่นโฟมรองอีกชั้นหนึ่งเพื่อเพิ่มความอบอุ่น โดยปกติค่า R-value จะเพิ่มเป็นสัดส่วนโดยตรงกับความหนาหรือจำนวนแผ่นรองที่นำมาซ้อนกัน เช่น ถ้าใช้แผ่นที่มี R-value 2 รองด้านล่างของแผ่นที่มี R-value 4 จะได้ชุดแผ่นนอนที่มี R-value เท่ากับ 6

 

2-sleeping-pad

การซ้อนแผ่นรองนอนทำให้ให้ค่า R-value สูงขึ้นและเพิ่มความอบอุ่นในกรณีแคมป์ในสภาพอากาศเย็นจัด

 

5. เลือกแผ่นรองนอนให้เหมาะสมกับขนาดของร่างกาย นักเดินทางไม่จำเป็นต้องเผื่อความยาวของแผ่นรองนอนเกินกว่าความสูงของตัวเองเยอะเพราะนั่นหมาถึงน้ำหนักที่ต้องแบกเพิ่มอยู่บนหลังของคุณตลอดเวลา นอกจากนั้นแผ่นรองนอนบางยี่ห้อยังออกแบบให้ส่วนปลายเท้าแคบกว่าส่วนอก (Mummy shape) ซึ่งเหมาะสำหรับวางในเต็นท์ที่ออกแบบในลักษณะเดียวกัน กรณีใช้แผ่นรองนอนแบบตรงและมีคนนอนมากกว่าหนึ่งคนในเต้นท์หลังเดียวกันแผ่นรองจะเกยกันบริเวณปลายเท้า สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นการเพิ่มน้ำหนักบรรทุกโดยโดยไม่จำเป็น

6. พิจารณาลักษณะการนอนของตัวนักเดินทางเอง กล่าวคือหากเป็นคนหลับยากและสะดุ้งตื่นง่าย อาจต้องเลือกใช้แผ่นรองนอนที่หนาและเมื่อพลิกตัวเสียงจะต้องไม่ดังมากเพื่อเพิ่มความสบาย คนหลับง่ายและลึกสามารถเลือกใช้แผ่นรองนอนที่บางกว่าได้ ในกรณีที่นอนขยับมากร่างกายอาจะเลื่อนหลุดออกจากแผ่นรองได้ง่าย วิธีแก้อย่างหนึ่งคือเลือกแผ่นรองนอนทีมีขนาดพอดีตัวแล้วสอดแผ่นรองเข้าไปในถุงนอนซึ่งจะป้องการการดิ้นหลุดจากแผ่นขณะใช้งานได้เป็นอย่างดี อีกประการหนึ่งที่ควรคำนึงถึงคือ ปกติคนนอนหงายร่างกายส่วนหลังจะมีส่วนพื้นที่สัมผัสกับแผ่นรองประมาณ 40% ของพื้นที่ร่างกายแต่หากเป็นคนนอนตะแคงพื้นที่สัมผัสจะน้อยกว่านั้นมากและจะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของแผ่นลดลง กล่าวคื R-value ขณะใช้งานของแผ่นน้อยกว่า R-value สูงสุดตามทฤษี ในกรณนี้นักเดินทางอาจต้องเลือกแผ่นรองนอนที่หนาขึ้นและเป่าลมแข็งๆ เพื่อยกจุดสัมผัสที่มีน้ำหนักกดทับจากร่างกายให้ห่างจากพื้นและเพิ่มประสิทธิภาพของแผ่นรองนอนขณะใช้งานให้มากที่สุด