เรื่องของ แก็สกระป๋องสำหรับเดินป่า

สำหรับนักเดินป่าแล้ว ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแก็สเป็นเชื้อเพลิงที่ใช้กันมากที่สุด  ด้วยเพราะเชื้อเพลิงหาง่าย ให้ค่าความร้อนที่สูง ไม่ต้องบำรุงรักษาเตามาก ใช้งานง่าย และก็มีความปลอดภัยในการใช้งานสูง

หลักๆแล้ว แก็สกระป๋องจะมีอยู่ราว 4 ประเภท ตามลักษณะการเชื่อมต่อกับแก็ส คือ แบบ Aerosol , แบบเจาะ (Piece)  , แบบคลิป (Clip)  และแบบเกลียว (Screw)

แบบที่นิยมใช้กันในบ้านเราจะมีอยู่ 2 แบบ ก็คือ แบบ Aerosol กับแบบ เกลียว

ถึงแม้จะเป็นแบบที่ใช้กันทั่วไป ก็มักจะมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับแก็สกระป๋องอยู่หลายอย่าง เช่น แก็สขนาด 230 กรัม คือทั้งกระป๋องหนัก 230 กรัม ซึ่งจริงๆไม่ใช่ครับ นั่นคือน้ำหนักเฉพาะแก็สยังไม่รวมกระป๋อง ถ้ารวมกระป๋องก็จะหนักราว 380 กรัม

แก็สแบบซาลาเปาสามารถใช้ได้นานกว่าแก็สแบบกระป๋องยาว ก็เป็นอีกความเข้าใจหนึ่งที่ผิด ซึ่งวันนี้เราจะเอาเรื่องนี้มาคุยกัน ว่า แก็สกระป๋องยาว กับแก็สซาลาเปา นี่มันเหมือนหรือต่างกันยังไงครับ ?

แก็สกระป๋องยาว VS แก็สซาลาเปา

แก็สกระป๋องยาว

กระป๋องแบบ Aerosol นั้นจะเรียกชื่อว่าเป็นแบบ MSF-1a หรือ A4 บ้านเรามักจะเรียกว่าเป็นแก็สกระป๋องยาว หัวต่อแก็สจะเรียกว่าเป็นแบบ bayonet-type ที่หัวต่อยื่นออกมา แก็สภายในจะเป็นแก็สบิวเทนทั้งหมด 100% โดยแก็สจะถูกอัดทำให้เป็นของเหลว ปกติจะมีขนาดน้ำหนักแก็ส 227 กรัม กระป๋องแก็สแบบเปล่าๆ จะหนักราว 103 กรัม มักจะใช้กันทั่วไปในการทำอาหารตามบ้าน ตามร้านอาหาร

แก็สกระป๋องยาว และหัวต่อแบบ bayonet

แก็สซาลาเปา

กระป๋องแบบเกลียว (screw thread Canister) หรือที่เรียกกันติดปากว่า “แก็สซาลาเปา” (ไม่รู้ใครเป็นคนคิดคำนี้ขึ้นมาคนแรกนะครับ เรียกได้น่ารักดี ) ที่เรียกว่าแบบเกลียวเพราะว่าตรงหัวต่อจะเป็นเกลียวหมุน กระป๋องแบบนี้มักจะบรรจุแก็สผสม มากกว่าที่จะเป็นบิวเทนล้วนเหมือนแก็สกระป๋องยาว (แต่ก็มีหลายเจ้าที่ใช้เป็นบิวเทนล้วนนะครับ) ภายในอัดเป็นของเหลวอยู่ในกระป๋องเหมือนกับแก็สกระป๋องยาว แก็สซาลาเปามักจะใช้กับพวกเดินป่า แค้มปิ้ง 

ปกติจะมี 3 ขนาด คือ 110 กรัม , 230 กรัม และ 450 กรัม พวกนี้คือน้ำหนักเฉพาะแก็สนะครับ ยกตัวอย่าง กระป๋องแก็สขนาด 230 กรัม จะเป็นน้ำหนักแก็ส 230 กรัม และเป็นน้ำหนักกระป๋องแบบเปล่าๆ อีก 150 กรัม รวมทั้งกระป๋องก็จะหนัก 380 กรัม

แก็สซาลาเปาขนาดต่างๆ และ หัวต่อแบบเกลียว  screw thread 

เนื่องจากเรียกจนติดปากไปแล้ว เพื่อความง่าย ยังไงต่อไปจะเรียกว่าแก็สกระป๋องยาว กับ แก็สซาลาเปาละกันนะครับ

เชื้อเพลิงในกระป๋องแต่ละแบบ

กระป๋องแบบยาว นั้นมักจะบรรจุแก็สบิวเทนทั้งหมด ส่วนแก็สซาลาเปานั้น ที่ขายกันในต่างประเทศมักจะเป็นเชื้อเพลิงผสม เช่น iso-butane กับ propane เป็นหลัก แต่ก็มีแบบที่ใช้เป็นบิวเทนล้วนเหมือนกัน … แล้วทำไมต้องเป็นอย่างนั้นละ ?

สาเหตุที่ต้องมีการผสมแก็สประเภทอื่นเข้าด้วยกันนั้นก็เพราะ ถ้าเป็นบิวเทนล้วนๆ อย่างเดียวนั้น เวลาใช้ในสภาพอากาศที่เย็นมากๆ แล้ว บิวเทนที่ถูกอัดเป็นของเหลวในกระป๋องจะกลายสภาพเป็นแก็สไม่ได้ เพราะ บิวเทนจะเดือดที่ -1 ° C ที่ระดับน้ำทะเล ถ้าอุณหภูมิต่ำกว่านั้น ก็จะกลายสภาพแก็สไม่ได้ เมื่อเป็นแก็สไม่ได้ เตาแก็สก็จะไม่มีเชื้อเพลิง  หรือก็คือจุดไม่ติดนั่นเองครับ

แล้วถ้าจะใช้ที่สภาพอากาศเย็นจัดละต้องทำยังไง …  เพราะนักเดินป่า ก็ต้องไปจุดเตาอยู่บนภูเขาหิมะเย็นๆบ้างละ … คำตอบก็คือต้องหาแก็สที่มีจุดเดือดต่ำมากๆมาใช้แทนหรือผสมเข้าไปครับครับ เช่น iso-butane มีจุดเดือดอยู่ที่ -11.7 °C หรือ โพรเพนนั้นจะมีจุดเดือดอยู่ที่ – 42° C ที่ระดับน้ำทะเล ถ้าอุณหภูมิข้างนอกไม่ต่ำกว่า -42 ° C ก็ยังกลายสภาพเป็นแก็สได้อยู่ หรือ พูดง่ายๆ อากาศเย็นมากๆ ก็ยังจุดเตาได้อยู่นั่นเอง

ด้วยเหตุนี้เชื้อเพลิงแก็สสำหรับใช้ในการแค้มปิ้งในสภาพอากาศเย็นก็จะเป็นแก็สผสมครับ ลองสังเกตุดูที่กระป๋องแก็สดูก็ได้ จะบอกว่าบรรจุแก็สอะไรข้างใน 

นอกจากนั้น แก็สผสมนั้นจะมีแรงดันมากกว่าทำให้แก็สซาลาเปานั้นจะมีความแข็งแรงของกระป๋องและหัวต่อมากกว่า แก็สกระป๋องยาวด้วย

ทำไมราคามันถึงต่างกันเยอะ ?

ถ้าเช่นนี้แล้วสิ่งสำคัญคือแก็สภายในมากกว่า กระป่องนะสิ 

แก็สซาลาเปาขนาด 230 กรัม ราคาตลาดราว 120-150 บาท (แล้วแต่ส่วนผสมแก็สนะครับ ถ้าบิวเทนล้วนก็ถูกหน่อย) แต่ถ้าแก็สกระป๋องยาว ราคา กระป๋องละ 30-40 บาท … ถ้ามันเป็นแก็สขนาดเท่ากัน แล้วทำไม ราคามันต่างกันขนาดนั้น สาเหตุที่ราคาต่างกันนั้นมาจาก

รูปนี้แสดงราคาต่อหน่วยเปรียบเทียบการใช้แก็สซาลเปา กับ แก็สกระป๋องยาว

1) แก็สกระป๋องยาวนั้น มีต้นทุนการผลิตที่ต่ำกว่า เพราะข้างในอัดความดัน (2ชั้นบรรยากาศ)น้อยกว่าแบบซาลาเปา เพราะแก็สโพรเพนมีจุดเดือดต่ำ ทำให้ทั้งกระป๋องซาลาเปาและวาล์วเชื่อมต่อต้องแข็งแรงกว่าเพื่อทนแรงดันที่มากกว่า (4ชั้นบรรยากาศ) ด้ว

2) แก็สกระป๋องยาวนั้นใช้กันแพร่หลายมาก โดยเฉพาะในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อมีความต้องการมาก จำนวนผลิตก็มากตาม ยิ่งผลิตมากต้นทุนการผลิตก็ยิ่งต่ำลง ในขณะที่แก็สซาลาเปานั้นมีปริมาณการผลิตที่น้อยกว่า เพราะส่วนใหญ่ใช้กับพวกนักเดินป่า ปีนเขา แค้มปิ้งกันเป็นหลัก 

3) แก็สกระป๋องยาว นั้นเป็นของใช้ทั่วไป ขายกันทีเป็นแพ็คหลายกระป๋อง จึงราคาถูกในขณะที่แก็สซาลาเปานั้นเป็นสินค้าเฉพาะกลุ่ม ยิ่งพวกที่ตีแบนด์เฉพาะให้เป็นสินค้าพรีเมี่ยม ราคาจึงสูงกว่า นี่ยังไม่นับกระป๋องลายสวยๆ ที่นักเดินป่าบางท่านซื้อเป็นของสะสมอีกนะครับ ลายหายากราคาก็จะแพงขึ้นไปอีก

4 แก็สกระป๋องยาวมีช่องทางการจัดจำหน่ายกว้างกว่า หาได้ทั่วไปตามซุปเปอร์มาร์เก็ต มีหลายแบรนด์การแข่งขันจึงสูง ราคาต่อหน่วยต่ำ เน้นขายปริมาณมาก ในขณะที่แก็สซาลาเปานั้นขายเฉพาะร้านเดินป่า จำนวนไม่มาก จึงมีราคาแพงกว่า

ที่กล่าวมาข้างต้น ก็เป็นสาเหตุว่าทำไมแก็สกระป๋องยาว ถึงราคาถูกกว่าแก็สซาลาเปามากนั่นเอง

แก็สกระป๋องยาวใช้ในที่อากาศเย็นได้ไหม ?

แก็สกระป๋องยาวสามารถใช้ในที่อากาศเย็นมากได้ไหม … คำตอบคือได้ แต่ได้แบบมีข้อจำกัดนะ

สาหตุเพราะจุดเดือดของแก็สมันเปลี่ยนแปลงไปตามความกดอากาศด้วย ยิ่งเราไปใช้บนภูเขาสูงจุดเดือดของแก็สก็จะต่ำลงด้วย ลองดูภาพประกอบ ในรูปจะเห็นว่ายิ่งความสูงมากๆ แก็สกระป๋องยาวก็สามารถที่จะใช้งานได้ที่อุณหภูมิต่ำลงเรื่อยๆ และถ้าเราเก็บแก็สในที่อุ่นๆไว้ก่อนเช่นในกระเป๋าหรือห่อด้วยเสื้อแจ็คเก็ตไว้ก่อนใช้ ก็จะช่วยให้ใช้งานได้ที่อุณหภูมิต่ำลงไปอีก

หัวแปลงสำหรับใช้แก็สกระป๋องยาว

เตาแก็สสำหรับแค้มปิ้ง เดินป่า แบบพกพานั้น มักจะออกแบบมาใช้กับแก็สซาลาเปา แต่ถ้าหากเราอยากจะเอาไปใช้กับแก็สกระป๋องยาวที่ราคาถูกกว่าหลายเท่าได้นั้นก็สามารถทำได้เช่นกัน โดยการใช้หัวแปลง  ก็จะทำให้เราสามารถใช้แก็สกระป๋องยาวที่ราคาถูกกว่ากับเตาสำหรับแก็สซาลาเปาได้

ภาพแสดงหัวแปลงสำหรับเปลี่ยนแก็สกระป๋องยาวให้เป็นแบบเกลียวเหมือนกระป๋องซาลาเปาได้

บทสรุป

ตัวผู้เขียนเองก็เป็นคนนึงที่เข้าใจผิดมานานว่า ปริมาณแก็สกระป๋องยาวจะน้อยกว่ากระป๋องซาลาเปา เนื่องจากกระป๋องซาลาเปาอัดแรงดันสูงกว่า แต่จากข้อมูลที่นำเสนอไปข้างต้น ชี้ให้เห็นว่า 

แก็สกระป๋องยาวกับซาลาเปา ต่างกันตรงความแข็งแรงของกระป๋องที่แบบซาลาเปาออกแบบให้รับแรงดันของแก็สได้มากกว่าเพื่อรองรับแก็สผสมสำหรับใช้ในสภาพอากาศที่หนาวเย็น และ หากไม่ได้เอาไปใช้ที่อุณหภูมิต่ำกว่าประมาณ 0 องศา (ที่ระดับน้ำทะเล) แล้ว แก็สกระป๋องยาวที่ใช้บิวเทนล้วน จะมีต้นทุนที่ถูกที่สุดครับ

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นประโยชน์กับนักเดินป่าทุกท่าน

พีท    

อ้างอิง