เลือกเต็นท์อย่างไรให้เหมาะสมกับการใช้งาน ตอน 1

 

ระหว่างเดินทางผมเคยได้ยินนักปีนเขาชื่อก้องคนหนึ่งกล่าวว่า เมื่อเข้ามาในเต็นท์และรูดซิปปิดลงแล้ว การนอนค่ำคืนนี้จะไม่มีความแตกต่างกันเลยระหว่างที่สนามหญ้าหน้าบ้านหรือเอเวอเรสต์เบสแค้มป์ แรกๆผมยังสงสัยว่าทำใมจึงเป็นเช่นนั้น แต่เมื่อได้เรียนรู้และมีประสบการณ์ในสนามจริงเพิ่มขึ้นจึงเริ่มเข้าใจสิ่งที่นักปีนเขาคนนั้นได้พูดไว้

ในค่ำคืนที่อากาศเย็นเฉียบ ลมพายุพัดกระหน่ำ ฝนตกหนักยังกับฟ้ารั่ว การมีเต็นท์ดีๆ สักหลังทำให้สถาณการณ์แบบที่ว่าไม่ใช่ปัญหาสำหรับนักเดินทางกลางแจ้ง เต็นท์ดีๆ สักหลังจะทำให้เรารู้สึกปลอดภัยว่ามีบ้านเล็กๆ ที่แข็งแรง กำบังลมฝนทำให้ยังหลับสนิทได้ในค่ำคืนที่แสนจะทารุณ หรือถ้าไปนอนริมชายหาดลมพัดเอื่อยๆ มีเต็นท์ดีก็กันยุงกันน้ำค้างนอนได้แบบสบายๆ เต็นท์ที่จะทำหน้าที่แบบนี้ได้ต้องได้รับการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับการใช้งาน ร้านพีทแอนด์พอลขอนำเสนอวิธีการเลือกเต็นท์ที่จะทำให้ค่ำคืนกลางแจ้งของคุณมีความสะดวกสบายยิ่งขึ้น

 

เต็นท์คืออะไร

 

เต็นท์เป็นระบบที่อยู่อาศัยแบบชั่วคราว (temporary shelter) สามารถติดตั้ง รื้อ เพื่อพกพาและเคลื่อนย้ายไปได้ขณะเดินทาง เต็นท์ป้องกันเราจากฝน ลม แดด หิมะ ให้ความรู้สึกปลอดภัยและความเป็นส่วนตัว ส่วนประกอบของเต็นท์จะมีดังต่อไปนี้ครับ โครง (pole) เต็นท์ภายใน (canopy or inner tent) ผ้าคลุมด้านบน (rain or fly sheet) ผ้าปูพื้น (ground sheet) หมุด (peg หรือ stake) เชือกขึง (guyout หรือ guyline) หลักการออกแบบนั้นจะให้ผ้าคลุมด้านบนยกตัวขึ้นและมีช่องว่างระหว่างแทรกอยู่ก่อนถึงเต็นท์ด้านในเพราะร่างกายของคนเรามีน้ำระเหยออกมาเสมอแม้ตอนนอนอยู่ ไม่ว่าจะเป็นทางผิวหนังหรือระหว่างหายใจ ความชื้นดังกล่าวจะไปกลั่นตัวเป็นหยดน้ำอยู่ที่ผิวด้านในของ rain sheet ช่องว่างที่มีจะช่วยให้น้ำที่เกาะอยู่ไหลลงมาที่ชายขอบของเต็นท์ได้โดยไม่หยดลงไปเปียกบริเวณด้านในของเต็นท์

tent-diagram

ส่วนประกอบของเต็นท์

 

โดยทั่วๆไปเราแบ่งเต็นท์ออกเป็น 3 ประเภท แต่ละประเภทถูกออกแบบให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน อากาศ อุณหภูมิ เรามาดูกันนะครับว่าเต็นท์มีแบบไหนบ้าง

 

เต็นท์ 3 ฤดู เป็นเต็นท์ยอดนิยม มีขายมากที่สุดในท้องตลาด จะว่าไปแล้วเต็นท์แบบนี้ใช้ได้กับสภาพอากาศค่อนข้างหลากหลายตั้งแต่ร้อนไปจนถึงเย็น เต็นท์ 3 ฤดู ใช้กับหน้าหนาวเมืองไทยได้แบบสบายๆ น้ำหนักค่อนข้างเบา วัสดุพวกผ้าเน้นที่บางและเบา ไม่ต้องทนการฉีกขาดมาก เมื่อพับเก็บแล้วเหลือขนาดเล็ก (เหมาะกับการเดินป่าที่ต้องแบกสัมภาระเองหรือการปั่นจักรยานแบบทัวริ่ง) โครงเต็นท์มีไม่กี่ชิ้นเลยมีน้ำหนักไม่มาก (โดยมากทำจากอลูมิเนียม หรือไฟเบอร์กลาส) ตัวเต็นท์ในหรือคาโนปีจะมีส่วนที่เป็นตาข่ายหรือมุ้งเยอะๆเพื่อให้ระบายอากาศได้ดี สังเกตุขนาดของตาข่ายมุ้งด้วยนะครับ ตาข่ายใหญ่จะระบายอากาศได้ดีและเย็นกว่ามุ้งตาข่ายเล็ก มีรูปร่างของเต็นท์มีหลายแบบเช่น แบบจั่ว (A-frame) และ แบบโดมทรงกลมๆ เต็นท์พวกนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานกับบริเวณที่มีลมพัดแรงตลอดเวลา หรือหิมะตกต่อเนื่องเป็นเวลานาน (เต็นท์ต้องรับน้ำหนักมากจากหิมะที่ค้างอยู่) ถ้าเอาไปใช้ทริปต่างประเทศก็แนะนำให้ใช้ในช่วงฤดูร้อน และช่วงต่อฤดูใบไม้ร่วงและใบไม้ผลิ

 

เต็นท์ 3 ฤดู + เป็นเวอร์ชั่นปรับปรุงของเต็นท์แบบ 3 ฤดูเพื่อให้ใช้กับสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น เช่น ในที่อากาศหนาว ฝนตกต่อเนื่องนานๆ ลมแรงมีหิมะตก สภาพแบบนี้ในเมืองไทยเราอาจไม่ใช่เรื่องปกติ แต่ถ้าเดินทางไปต่างประเทศ เช่น ยุโรป อเมริกา หรือ นิวซีแลนด์ ก็ต้องเตรียมเผื่อไว้เลยนะครับเพราะอากาศบ้านเค้านั้นในวันๆหนึ่งเปลี่ยนแปลงได้มากจริงๆ ตอนเที่ยงแดดออกร้อนอยู่ดีๆ พอตกเย็นมาอุณหภูมิลดลงไปแบบน้ำเป็นน้ำแข็ง ถ้าเจอสภาพแบบนี้ก็ต้องเลือกใช้เต็นท์ แบบ 3 ฤดู+ ขึ้นไปครับ เต็นท์แบบนี้จะออกแบบให้แข็งแรงขึ้นมีระบบโครงที่รับน้ำหนักหนักมากขึ้น (โดยปกติจะมีโครงเพิ่ม 1-2 ชิ้น) ผนังด้านข้างจะออกแบบให้ตั้งชันเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้งานภายใน พื้นที่ส่วนมุ้งหรือตาข่ายจะลดลงเพื่อให้รักษาความอบอุ่นในเต็นท์ ผ้าที่ใช้ตัดเย็บจะหนาและมีน้ำหนักมากขึ้นและกันการฉีกขาดได้ดี

 

temperate-camping

เต็นท์ 3 ฤดูหรือ 3+ ฤดู ใช้กับสภาพอากาศที่ไม่รุนแรงมากและอากาศที่ไม่เย็นจนเกินไปนัก

 

เต็นท์ 4 ฤดู ใช้กับสภาพอากาศที่รุนแรงจัด ลมพัดแรงตลอดเวลา หิมะตกต่อเนื่อง บางทีจะเรียกว่าเต็นท์นักปีนเขา (mountaineering tent) ก็อย่างที่ชื่อบอกนะครับ ใช้ในสถานที่และอากาศแบบสุดๆ ยกตัวอย่าง บนเทือกเขาสูง เบสแคมป์ เดินทางต่อเนื่องยาวนานในฤดูหนาว (ของต่างประเทศ) เช่นพวก อาปาลาเชี่ยน หรือแปซิฟิกเครสต์เทรล เต็นท์พวกนี้จะทำจากวัสดุที่หนาทนทานมาก ผ้าเต็นท์รับแรงดึงสูงและกันการขาดรูด (rip-stop fabric) จำนวนชิ้นส่วนของโครงมีเพิ่มขึ้นไปอีกเพื่อให้เต็นท์แข็งแรงขึ้น ทรงเต็นจะมีลักษณะเป็นโดม (geodesic) เพื่อลดแรงปะทะจากลม และให้หิมะเลื่อนตกจากหลังคาขอเต็นท์ได้ง่าย ผ้าคลุมหรือ rain sheet จะคร่อมลงมาต่ำเกือบชิดกับพื้นเพื่อกันลมเล็ดลอดเข้าไปในเต็นท์ ส่วนในที่เป็นตาข่ายจะน้อยและมีไว้เพื่อระบายอากาศเท่าที่จำเป็น ที่ต้องทำมิดชิดขนาดนี้เพื่อรักษาความอุ่นให้อยู่ข้างให้ดีครับ เต็นท์จะมีหูร้อยเชือกเพื่อขึงตรึงกับหมุดเพิ่มขึ้นหลายๆที่เพื่อเพิ่มความแข็งแรง นอกจากนั้นเค้ายังพยายามทำให้พื้นที่ใชสอยภายในด้านบน (head room) กว้างๆ เพราะเผื่อว่าถ้าติดพายุหิมะหลายๆวัน ไปไหนไม่ได้ต้องอยู่ในเต็นท์ตลอดเวลาจะได้ไม่อึดอัดจนเกินไปนัก เต็นท์แบบนี้ไม่น่าจะเหมาะกับการใช้งานในเมืองไทย น่าจะร้อนเกินไปมากๆครับ เต็นท์ชนิดนี้จะมีน้ำหนักที่ค่อนข้างมากและขนาดพับเก็บจะใหญ่ขึ้น สมัยที่ผมเคยฝึกการใช้ชีวิตรอดในป่าเขาลำเนาไพรในสหรัฐอเมริกานั้น เคยสอบที่ต้องเกี่ยวข้องกับกางเต็นท์ประเภทนี้อยู่บ่อยครั้ง คือให้ทั้งเร็วและแข็งแรง หลังๆครูฝึกชมเปราะว่าเต็นท์ที่ยู (หมายถึงผม) กางนี่โอเคมากนะ ถ้ามีเฮอริเคนพัดถล่ม หรือมีระเบิดลงข้างๆ เต็นท์น่าจะยังอยู่ มีแต่เค้าเปรียบมานะครับ แบบว่าเจอจริงๆนี่ผมเองก็ยังไม่เคย (โชคยังดี) ที่เจอบ้างก็คือไปอยู่กลางพายุหิมะสามวันสามคืนแบบนี้เต็นท์ 4 ฤดูที่ผมกางก็ยังโอเคครับ ใช้งานได้ดี

 

mountaineering-tent-1087x726

เต็นท์ 4 ฤดูใช้กับสภาพอากาศที่รุนแรงมาก ลมพัดตลอดเวลาและอากาศที่เย็นจัด

 

ขอฝากไว้เป็นข้อคิดว่ามีเต็นท์ดีอย่างเดียวไม่ตอบโจทย์ทั้งหมดนะครับ เราต้องกางเต็นท์ให้ดีได้ด้วย หมุดต้องยึดกับพื้นดินอย่างแข็งแรง เชือกต้องดึงให้ตึงอย่างเหมาะสมและสมดุล การเลือกใช้เงื่อนเชือกที่แข็งแรงและง่ายต่อการปรับความตึง พิจารณารูปร่างของเต็นท์เทียบกับทิศทางของลมเพื่อให้ระบายอากาศ หรือลดน้ำหนักที่มากระทำกับตัวเต็นท์ ลายละเอียดเหล่านี้ผมจะขอเล่าให้ฟังในโอกาสต่อๆไปนะครับ

 


 

วิธีเลือกขนาดของเต็นท์ให้เหมาะสม

soulo-2d-en

ขนาดพื้นที่ของเต็นท์ไม่ควรเล็กกว่า 2.3 ตารางเมตรต่อคน

 

เราสามารถหาเต็นท์ขนาด 1, 2, หรือ 3 คนได้ทั่วๆไปในท้องตลาด ถ้าเราจะตัดสินใจเลือกเต้นโดยพิจารณาถึงขนาดนั้นผมฝากข้อคิดไว้ให้พิจารณาตามนี้นะครับ คนเราจะใช้พื่นที่นอนแบบสบายๆ ไม่แคบจนเกินไปอย่างน้อยประมาณ 2.3 ตารางเมตร ( เช่นกว้าง 1.1 เมตร ยาว 2.1 เมตร) ต่อคน ความสูงต้องประมาณ 1 เมตรถึงจะนั่งแล้วหัวไม่ชนเต็นท์ เรามีจำนวนคนที่จะนอนในเต็นท์กี่คนก็เอาขนาดพื้นที่แนะนำคูณเข้าไปก็จะได้ขนาดของเต็นท์ที่เหมาะสม ที่แนะนำนี่เป็นอย่างน้อยนะครับ ถ้าเล็กกว่านี้จะแคบไปไม่สบายสำหรับการเดินทางแบบธรรมดาๆ (แต่ถ้าน้ำหนักเป็นปัจจัยสำคัญต้นๆ ก็อาจจะยอมใช้เต็นท์ที่เล็กลง) การเลือกซื้อเต็นท์ที่ดีนั้นตองลองกางแล้วเข้าไปนั่งดูว่าขนาดเหมาะสบายหรือไม่ เช่น บางทีไปกันสองคนอาจจะเลือกซื้อเต็นท์สำหรับสามคนก็ได้ เพราะมีพื้นที่เพิ่มขึ้นสำหรับวางของ เหยียดแขนขา เปลี่ยนเสื้อผ้า เต็นท์ที่ออกแบบมาดีนั้นที่ว่างส่วนบน (head room) จะต้องไม่แคบมากเพื่อให้รู้สึกไม่อึดอัดจนเกินไป เต็นท์บางรุ่นจะมีผ้าคลุมด้านบนที่ยื่นออกไปบริเวณประตูเข้าเต็นท์ (vestibule) พื่นที่ส่วนนี้ไม่โดนฝนหรือน้ำค้างและถือว่าเป็นของแถมที่เราสามารถใช้วางของ เช่น อาหาร รองเท้าเปื้อนโคลนหรือเป้ สำหรับเต็นท์ที่ใหญ่มากๆอาจถึงขั้นเอาจักรยานเข้าไปจอดได้ ถ้า vestibule กว้างเราสามารถลดขนาดพื้นที่ส่วนตัวเต็นท์ภายในลงได้บ้างเพื่อลดน้ำหนัก ขนาดของเต็นท์นั้นควรเลือกให้เหมาะสมกับการใช้งานจริงๆ เต็นท์ที่แคบไปจะนอนไม่สบายและถ้าใหญ่เกินไปนั้นก็จะหนักโดยใช่เหตุ ข้อแนะนำสำหรับนักเดินทางที่ต้องออกสนามบ่อยๆก็คือให้มีเต็นท์หลายแบบและขนาดเอาไว้นะครับจะได้เลือกให้เหมาะสมกับสภาพการใช้งานและจำนวนผู้ร่วมทางมากที่สุดครับ

 

vestibule

ส่วนยื่นออกของเต็นท์ (vestibule) สามารถใช้เป็นพื้นที่เก็บของเพิ่มเติมได้

 


บทส่งท้าย

โดยสรุป ข้อมูลในบทความนี้น่าจะช่วยให้ให้นักเดินทางเลือกซื้อเต็นท์โดยพิจารณาจากชนิดและขนาดได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น อย่าลืมนะครับว่าเต็นท์ที่ดีนั้นเพิ่มความสบายและความปลอดภัยให้การเดินทาง ทำให้เรามีความทรงจำและประสบการณ์ที่ดีๆเก็บไว้ไปเล่าให้ลูกหลานฟังต่อๆไปครับ ขอจบบทความนี้ไว้แต่เพียงนี้ ในบทความหน้าเราจะมาพูดคุยกันถึงรายละเอียดด้านเทคนิคต่างๆ เช่น วัสดุทำเต็นท์ เลยเอาต์ และวิธีการใช้งานสำหรับเต็นท์ต่อไปครับ

ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันมา แล้วพบกันบน Trail นะครับ

พอล