หลักและข้อควรปฏิบัติระหว่างการเดินป่า (Hiking Trail Etiquette)

กันยายน 26, 2016 เทคนิคการเดินทาง

ทีมงานของร้านพีทแอนด์พอลขอนำเสนอข้อควรปฏิบัติที่คุณสามารถทำตามได้ง่ายๆ ระหว่างท่องเที่ยวในป่า ภูเขา ทะเล และสถานที่ธรรมชาติอื่นๆ เมื่อทำตามข้อแนะนำเหล่านี้เราสามารถสร้างบรรยากาศการเดินทางที่ดีอย่างชนิดคาดไม่ถึง ธรรมชาติที่เราเดินทางไปสัมผัสจะงดงาม น่าประทับใจอยู่เสมอ คุณจะกลายเป็นนักเดินทางที่มีความประพฤติมารยาทดี แบบสากล เป็นสุภาพบุรุษแห่งพงไพรได้รับความทรงจำที่สุดประทับใจยากจะลืมเลือนแบบไม่รู้ตัว อ่านข้อแนะนำเหล่านี้แล้วลองทำตามนะครับ เอาให้แบบเคยชินไปเลย แล้วลองสังเกตุความเปลี่ยนแปลงดีๆที่เกิดกับตัวคุณและธรรมชาติรอบๆกันครับ

ข้อควรปฏิบัติที่ว่านี้สามารถแบ่งได้หลักๆเป็น 7 ข้อ นักเดินป่าชาวอเมริกัน ออสเตรเลีย แคนาดา และอื่นๆอีกหลายประเทศ ที่ได้ฝึกการใช้ชีวิตในธรรมชาติจะรู้จักหลักการนี้ดีเพราะถูกสอนให้ตระหนักรับรู้กันมานานแล้ว หลักการเดินทางแบบไม่ทิ้งร่องรอยไว้ (Leave No Trace Principles, LNTP) หากทำตามได้จะทำให้การเดินทางของเรานั้นรบกวนต้นไม้ สัตว์ป่า สิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติน้อยมาก หลักการนี้ทำให้เราเดินป่ากันแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยและเห็นใจผู้ร่วมทางคนอื่น ได้มิตรภาพดีๆระหว่างทางอย่างเหลือเฟือครับ เราลองมาดูกันครับว่าข้อปฏิบัติ 7 ข้อนี้มีอะไรบ้าง

 

1) วางแผนและเตรียมตัวการเดินทางให้เหมาะสม (Plan ahead and prepare)

 

hiker-and-map

วางแผนการเดินทางให้เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบต่อธรรมชาติ

 

เริ่มง่ายๆจากวางเป้าหมายของการเดินทางครับ เช่นเราจะไปไหน ใช้เส้นทางไหน ใช้เวลาเท่าไหร่ จากนั้นรวบรวมข้อมูลสภาพพื้นที่ สภาพอากาศ อุปสรรคตามฤดูกาลก่อนออกเดินทาง

นัดแนะวิธีสื่อสารกันเองภายในกลุ่มเพื่อนให้เข้าใจ เช่นให้ใครคอยดูใครว่าหลงทางหรือยังตามมาทันรึเปล่า (จะได้ไม่ต้องไปหักกิ่งไม้หรือกองหินบอกทางกันในป่า) สิ่งสำคัญที่นักเดินทางจะลืมเสียไม่ได้คือมีความรู้เกี่ยวกับการเดินป่า วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น อย่าลืมเตรียมเสื้อผ้า อุปกรณ์ อาหารให้พร้อมและพอด้วยนะครับ

 

hiking-gear

ความพร้อมของอุปกรณ์ที่จำเป็น มีความสำคัญมากต่อการเดินทาง

 

ต่อมาก็ประเมินความสามาถตัวเองให้ดีครับเลือกเส้นทางที่เหมาะ สมกับสภาพร่างกายของของเรา เช่น ทางไม่ไกลหรือชันจนเกินไป วางแผนแบ่งระยะทางเดินต่อวันให้เหมาะสมจะได้ไม่เหนื่อยเกินไป พักให้เต็มที่ในแต่ละวัน (กินให้อิ่มนอนให้หลับแบบเต็มที่ครับ) ถ้ามีใครในกลุ่มบาดเจ็บหรือประเมินแล้วอาจเกิดอันตรายถ้าเดินทางต่อก็อย่าดันทุรังนะครับ ตัดใจหันหลังกลับ คิดเสียว่าหากยังมีลมหายใจอยู่เรายังมาใหม่ได้ ภูเขาหรือป่ามันไม่ได้หายไปไหน

ถ้าทำอย่างนี้ได้ก็ถือว่าถูกตามหลักการเดินทางแบบไม่ทิ้งร่องรอยในธรรมชาติครับ เพราะถ้าเตรียมตัวดีอุปกรณ์เหมาะสม เช่น ใส่เสื้อผ้าอุ่น เต้นท์ดีกันหิมะ ก็ไม่จำเป็นต้องไปตัดต้นไม่กิ่งไม้ทำที่พักกำบัง (Shelter) ทำให้ป่าเสียหาย หรือวางแผนเส้นทางดีไม่หลงทางก็ไม่ต้องไปก่อไฟทำสัญญาณควันให้เอิกเริกรบกวนธรรมชาติจากความไม่พร้อม หรือความผิดพลาดของเราเองครับ

 

2) เดินและตั้งแค้มป์ตามพื้นที่ทนทานแข็งแรง (Travel and camp on durable surfaces)

 

camp-site

กางเต้นท์และแค้มป์บนพื้นที่ทนทานไม่เสียหายได้ง่าย

 

ถ้าจะถามว่าเท้าของเราที่เหยียบย่ำไปมีผลอะไรกับป่าหรือธรรมชาติบ้าง คำตอบก็ขึ้นอยู่กับว่าเราเหยียบย่ำไปบนอะไร พวกเราลองนึกภาพความแตกต่างระหว่างเดินริมลำธารไปตามเป็นหินก้อนใหญ่ๆแข็งแรงกับเดินไปบนพื้นป่าที่มีใบไม้ทับถมกัน มีมอสหรือไลเคนนุ่มๆเติบโตคลุมอยู่อย่างสวยงาม (กรณีไปเดินป่าเมืองนอกที่อากาศเย็น) แบบที่สองคงจะทิ้งร่องรอยที่ไม่น่าดูและสร้างความเสียหายให้กับธรรมชาติชนิดที่ต้องใช้เวลาหลายปีถึงจะกลับคืนสภาพมาเป็นแบบเดิมได้ แบบนี้ถือว่าไม่ควรทำนะครับ เวลาเดินพยายามเดินอยู่ในทางที่ชัดเจนอยู่แล้วตลอดเวลา อย่าเดินตัดทางใหม่ อย่าตัดหัวโค้ง (Switchback) หรือเดินลัดทาง (Shortcut) เพราะจะเป็นการทำลายต้นไม้หรือพืชที่คลุมดินอยู่และจะเป็นการเพิ่มการกัดกร่อนของหน้าดินจากฝนตามมา ก่อนเดินเหยียบย่ำไปหยุดคิดสักนิดครับว่าจะเกิดผลอะไรตามมาจากการกระทำของเรา อย่าลืมนะครับว่าความเป็นสุภาพบุรุษนั้นนอกจากควรปฏิบัติกับคนอื่นๆแล้วยังควรปฏิบัติกับป่าเขาลำเนาไพร สัตว์ป่าและธรรมชาติด้วยครับ

 

3) จัดการกับขยะและของเสียอย่างเหมาะสม (Dispose of waste properly)

 

take-away-your-trash

นำขยะทุกชิ้นออกมาด้วย Pack it in….pack it out!

 

หลักการข้อนี้เข้าใจได้ง่ายมาก เก็บขยะของคุณทุกชิ้นออกไปจากธรรมชาติ (Pack it in – pack it out) เราอุตส่าห์เดินทางยากลำบากเพื่อไปชื่นชมธรรมชาติที่สวยงาม เพราะฉะนั้นอย่าทิ้งขยะไว้เรี่ยราดอันเป็นการทำลายความงดงามนั้นเลยครับ เอาอะไรเข้าไปในป่าก็เอาออกมาให้หมด เศษอาหารก็ควรเอาออกมาด้วยนะเพราะหากทิ้งไว้จะทำให้สัตว์ป่าได้กลิ่นเข้ามาคุ้ยกิน บ่อยๆเข้าจะเป็นการลดสัญชาตญาณการหากินเองและเกิดเป็นอันตรายกับสัตว์เพราะอาจกินอะไรแปลกๆที่ร่างกายไม่สามารถย่อยได้

หากเข้าห้องน้ำก็ให้ขุดหลุมลึก 15-20 ซม (Cat hole) ทำธุระเสร็จแล้วก็กลบหลุมฝังปิดไว้ เวลาเลือกบริเวณที่ขุดหลุมทำธุระก็ขอให้ห่างจากแหล่งน้ำอย่างน้อย 50 เมตร (70 ก้าวของผู้ใหญ่) ที่ต้องไกลประมาณนี้เพราะเราไม่ต้องการให้ของเสียไปปนเปื้อนกับแหล่งน้ำที่เราอาจต้องเอามาทำอาหาร หรือดื่ม ลองนึกสภาพว่าถ้าทำธุระส่วนตัวอยู่ใกล้เกินไปใครก็คงกลืนน้ำไม่ค่อยจะลง (ของตัวเองยังแทบแย่ ของคนอื่นไม่ต้องพูดถึงครับ)

 

4) ปล่อยสิ่งต่างๆตามธรรมชาติให้อยู่ในสภาพเดิม (Leave what you find)

 

3

 ร่วมรักษาความงามของธรรมชาติ ปล่อยสิ่งต่างๆอยู่ในสภาพเดิมเหมือนที่เราเห็น

 

มื่อเราเดินป่า เรากำลังกลับเข้าไปสู่อ้อมกอดของธรรมชาติ กลับไปสู่ความเรียบง่าย ความสงบ ดังนั้นเราควรลดการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติเหล่านั้นที่เกิดจากตัวเราให้ได้มากที่สุดครับ ยกตัวอย่างสิ่งทำได้ง่ายๆ เช่น อย่าหักกิ่งไม้ ตัดต้นไม้โดยไม่จำเป็น เวลาตั้งแค็มป์ก็เลี่ยงการเปลี่ยนแปลงสภาพบริเวณนั้นเช่น ไปขุดร่องก่อดิน หรือเรียงหินทำกองไฟเพิ่ม จำไว้นะครับว่าบริเวณตั้งแค้มป์ (Camp site) ที่ดีนั้นต้องหาจากที่ๆมีอยู่ตามธรรมชาติแล้วไม่ใช่ต้องสร้างขึ้นมาใหม่ครับ

นอกจากนั้น อย่าทำร้ายต้นไม้นะครับ ตอกตะปูใส่ส่วนต้นเพื่อแขวนสัมภาระ หรือ รัดเชือกกับกิ่งไม้อ่อนที่ยังไม่แข็งแรงเพื่อตากผ้าเป็นการรบกวนระบบส่งน้ำเลี้ยงซึ่งถ้ามากๆเข้าอาจทำให้ต้นไม้เสียหายหรือตายได้ อีกอย่างหนึ่งคืออย่าไปสลักชื่อลงบนเปลือกต้นไม้เลยครับ เชื่อพวกเราเถอะ ไม่มีใครสนใจหรอกว่าคุณเคยมาที่นี้แล้วหรือตอนนี้อินเลิฟอยู่กับใคร นักเดินป่าส่วนใหญ่อยากมาชื่นชมธรรมชาติที่ไม่มีมลพิษทางสายตามากกว่า (ถ้าอยากบอกรัก ทางร้านเราแนะนำให้สื่อสารด้วยคำพูดหรือจดหมายครับมีความหมายลึกซึ้งกว่าเยอะ ….มีประสบการณ์ตรงมาแล้วครับ) เลี่ยงการตัดกิ่งไม่เพื่อมาปูรองพื้นเต้นท์หรือเป็นที่นอนด้วยครับ ใช้แผ่นรองนอนแทนเถอะครับ เดี๋ยวนี้แบบเบาๆพับเก็บแล้วเหลือเล็กนิดเดียวมีขายเยอะแยะอย่างร้านพีทแอนด์พอลนี่ก็มี

นักเดินทางอาจคิดว่าเก็บดอกไม้นิดๆหน่อยๆมาชื่นชมอาจไม่ใช่เรื่องใหญ่ หรือ เก็บผลไม้หรือยอดไม้มากินบ้างก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าทุกคนคิดแบบนี้ดอกไม้และผลไม้จะหมดไปจากป่า เพราะฉะนั้นของกินก็เตรียมเข้าไปให้พร้อม อะไรที่มีอยู่ตามธรรมชาติเราก็ให้เป็นอาหารของสัตว์ป่าเถอะครับอย่าไปแย่งเค้าเลย ไม่จำเป็นครับ ไปเจอของสวยงาม เช่น ก้อนหินสีสวย เขาสัตว์ วัตถุโบราณ และอื่นๆ ที่เจอในป่าก็ควรจะอยู่ในป่าเหมือนเดิมครับอย่าไปเก็บออกมา ถ่ายรูป หรือ สเก็ตช์ภาพสวยๆ บวกกับความทรงจำที่ดีกลับออกมาแทน ลองนึกดูว่าถ้าคนรุ่นต่อไปเดินทางไปยังสถานที่เดิมและ ก้อนหิน ต้นไม้และทุกสิ่งยังสวยงามเหมือนเดิมจะน่าภูมิใจขนาดไหน เก็บสิ่งเหล่านี้ในสภาพที่สมบูรณ์ให้กับลูกหลานของเราต่อๆไปเถอะนะครับ

 

5) ใช้ไฟให้เหมาะสมและลดผลกระทบของไฟให้น้อยที่สุด (Minimize campfire impacts)

 

stove_1

ใช้ไฟเท่าที่จำเป็นเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม

 

การก่อไฟนั้นเป็นสิ่งที่เราส่วนใหญ่จะนึกถึงเสมอเมื่อนึกถึงการพักแรมในป่า ไม่ว่าจะเป็น การก่อไฟเพื่อหุงหาอาหาร สร้างความอบอุ่นระหว่างค่ำคืนที่หนาวเย็น หรือแม้แต่เพิ่มบรรยากาศสำหรับเรื่องเล่ายามค่ำคืน ทักษะการก่อไฟนั้นยังถือกันว่าเป็นสิ่งสำคัญสุดยอดอย่างหนึ่งที่นักเดินป่าทุกคนต้องทำได้ อย่างไรก็ตามไฟนั้นอาจสร้างผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติได้มากเช่นกันหากเราใช้อย่างไม่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่น รอยไหม้เกรียมบนพื้น ต้นไม้ถูกตัดมากเกินไปเพื่อทำฟืน จนถึงอุบัติเหตุทำให้เกิดไฟป่า การก่อไฟให้มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดนั้นทำได้ง่ายๆด้วยตามวิธีต่อไปครับ

เลือกก่อไฟในบริเวณที่มีฟืนอย่างเหลือเฟือ ย้ำนะครับว่าเหลือเฟือคือแบบเมื่อเอามาใช้แล้วตอนรื้อแค้มป์ออกวันรุ่งขึ้นเพื่อเดินทางต่อยังรู้สึกว่าสภาพทุกอย่างเหมือนเดิม คือสังเกตุไม่เห็นเลยว่าบริเวณนั้นไม้ฟืนแหว่งหายไป

ถ้าเป็นบริเวณที่มีการตั้งแค้มป์กันเป็นประจำอยู่แล้วให้ก่อไฟบริเวณรอยของกองไฟเดิม ถ้าที่เดิมไม่มีก็ก่อไฟในบริเวณที่เหมาะสมแต่ควรรื้อกองไฟที่ใช้งานแล้วออกและปรับพื้นให้กลับสู่สภาพเดิมเมื่อใช้เสร็จแล้ว

ทางเลือกที่ดีอีกวิธีหนึ่งคือการก่อไฟบนถาดเหล็ก โดยถาดควรจะมีขอบขึ้นมาแบบขอบกระด้งสูงประมาณ 3 นิ้ว ยกถาดขึ้นห่างจากพื้นโดยการรองด้วยหินเพื่อป้องกันพื้นและพืชที่อยู่บริเวณผิวไหม้เกรียม เลือกถาดให้หนาพอประมาณไม่งั้นใช้ไม่กี่ครั้งก้นจะทะลุจากความร้อน

เลี่ยงการตัดไม้จากต้นไม้เพื่อมาทำฟืน เก็บไม้ฟืนเอาตามพื้นหรือต้นไม้ที่ล้มแล้วครับ เลือกให้มีขนาดไม่ใหญ่เกินไป เหมาะที่สุดก็ประมาณข้อมือ ควรเก็บฟืนจากบริเวณกว้างๆรอบแค้มป์เพื่อไม่ให้บริเวณใดบริเวณหนึ่งเกิดอาการฟืนแหว่ง หากอยู่ใกล้ลำธารหรือชายหาดลองเดินดูตามขอบน้ำครับส่วนใหญ่จะมีไม้ที่ลอยตามน้ำมาแห้งๆ อยู่เสมอ ฟืนไม้ที่ใช้ไม่หมดก็ให้คืนโดยการกระจายในพื้นที่กว้างๆรอบแค้มป์ด้วยนะครับจะได้มีสภาพเป็นธรรมชาติเหมือนเดิมที่สุด

ก่อกองไฟให้มีขนาดและระยะเวลายาวนานพอดีกับที่จะใช้งาน ให้มีคนอยู่ควบคุมกองไฟตลอดเวลา (ย้ำว่าต้องตลอดเวลานะครับ) เพื่อป้องกันอุบัติเหตุ เมื่อจะเลิกใช้ปล่อยฟืนให้ไหม้จนเหลือเป็นขี้เถ้าสีขาว หลังจากนั้นให้ใช้น้ำดับ อย่าใช้ดินกลบเพราะดินนั้นไม่สามารถดับไฟให้สนิทได้ครับ วิธีการที่ดีสุดคือโกยผงเถ้าลงไปในถังน้ำ จากนั้นเทลงพื้นโดยกระจายไปในหลายๆตำแหน่งในบริเวณกว้าง

อย่าเผาขวด ถุง หรือกระป๋องพลาสติก หรือกระป๋องโลหะในกองไฟนะครับเนื่องจากเป็นมลพิษ ควรนำออกมาด้วยจากป่าเพื่อมาทิ้งข้างนอกให้เหมาะสมครับ

ปัจจุบันนี้เตาสนาม (Lightweight stove) ที่ใช้คู่กับแก้สกระป๋อง (Gas canister) นั้นได้รับการพัฒนาไปมากจนมีน้ำหนักเบา ขนาดเล็กกระทัดรัดพกพาสะดวก ราคาไม่แพง การใช้อุปกรณ์ลักษณะนี้จึงเป็นทางเลือกที่ดีมากเพราะแทบไม่ทิ้งร่องรอยอะไรกับธรรมชาติเลย เตาชนิดนี้ไม่ต้องใช้ฟืน ไม่มีขี้เถ้า และถ้าวางในตำแหน่งที่เหมาะสมก็ไม่ทำให้พื้นไหม้เกรียมเลย

 

6) ไม่รบกวนสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติ (Respect wildlife)

 

bird-watching

ทำตัวเป็นแขกที่ดีของป่า  ไม่รบกวนสัตว์โดยเฝ้าดูจากระยะไกล

 

สัตว์ป่าเป็นส่วนสำคัญมากต่อระบบนิเวศธรรมชาติ ป่าที่ไม่มีสัตว์ก็เหมือนบ้านที่ขาดคน เราต้องระลึกเสมอว่าการที่เราเข้าไปในป่านั้นเราเป็นผู้เข้าไปเยี่ยมเจ้าบ้านและต้องทำตัวให้เป็นแขกที่ดี หลักการง่ายๆที่ควรทำเมื่อเจอสัตว์ในป่าคือ ไม่ส่งเสียงดังโหวกเหวก ทิ้งระยะห่างจากสัตว์ระดับเหลือเฟือ วิธีหนึ่งที่ดีคือพกกล้องส่องทางไกลหรือเลนส์ที่ซูมได้เยอะๆไปด้วยจะได้ดูหรือถ่ายรูปจากระยะไกลได้

สัตว์ป่าก็เหมือนกับเราคือต้องการน้ำอยู่ตลอดดังนั้นควรแค้มป์ห่างจากแหล่งน้ำอย่างน้อย 70-80 เมตร เพื่อให้สัตว์ลงกินน้ำได้โดยไม่กลัวเราและเครียด สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือเลี่ยงที่จะไปแหล่งน้ำตอนกลางคืนเพราะเป็นเวลาที่สัตว์ป่าแอ็คทีฟและออกหากินมากที่สุด เก็บเสบียงอาหารและเศษขยะให้เรียบร้อยป้องกันไม่ให้สัตว์ได้กลิ่นและเข้ามากินซึ่งจะเป็นอันตรายกับตัวเราและสัตว์ในที่สุด อย่าจับและแตะต้องสัตว์ป่าโดยเฉพาะลูกเล็กๆแม้จะดูน่ารักเพียงใดก็ตาม กลิ่นของเราที่ไปติดลูกสัตว์นั้นเป็นสิ่งแปลกปลอมซึ่งอาจทำให้พ่อแม่ละทิ้งลูกตัวเองไปได้ตามสัญชาตญาณ ลูกสัตว์ที่อยู่ในป่าลำพังตามธรรมชาติมีโอกาสรอดชีวิตน้อยมาก เราคงไม่อยากให้สิ่งมีชีวิตน่ารักต้องเผชิญชะตากรรมที่ยากลำบากเช่นนั้นจากการกระทำของเรานะครับ อีกอย่างหนึ่งที่ควรคิดถึงอยู่เสมอ คือ ถ้ากลุ่มเดินทางของเราใหญ่มากให้แบ่งสมาชิกออกเป็นกลุ่มย่อยๆ เดินแยกกันเพื่อลดผลกระทบที่มีต่อสัตว์ป่าและธรรมชาติครับ (คร่าวๆ อย่าให้เกิน 5 คนต่อกลุ่ม)

 

7) มีความเห็นอกเห็นใจนักเดินทางคนอื่น (Be considerate to other visitors)

 bigstock-hiker-woman-helps-her-friend-c-27176396

เราเดินทางไปในธรรมชาติเพื่อค้นหาตนเองและความสงบ

เห็นอกเห็นใจเพื่อนร่วมทางและแบ่งปันประสบการณ์ดีร่วมกัน

 

ข้อนี้เป็นส่วนสำคัญมากทีจะทำให้ประสบการณ์เดินทางในป่าทั้งของเราและนักเดินป่าคนอื่นๆน่าประทับใจและมีคุณภาพ หลักการนั้นเข้าใจได้ง่ายมาก นั่นคือ 1) ก่อนทำอะไรควรคิดและพิจารณาถึงผลการกระทำของเรา และ 2) เราอยากได้อะไรแบบไหนก็ทำและให้กับผู้อื่นแบบนั้น พวกเราสามารถเดินป่าร่วมกันอย่างถ้อยทีถ้อยอาศัย เห็นใจกัน ลองพิจารณาสถานการณ์ที่เจอบ่อยๆและมารยาทสากลที่เราควรทำต่อไปนี้นะครับ

จักรยานใช้ทางร่วมกับคน หลักการคือ โดยปกติผู้ขี่จักรยานควรจะหลีกให้คนเดินป่าได้ไปก่อนเพราะจักรยานนั้นสามารถหยุดและปั่นออกไปได้อย่างรวดเร็วแต่จะมีบางกรณีที่เป็นข้อยกเว้นคือถ้าจักรยานลงเขาวิ่งมาเร็ว ต่อเนื่อง ไม่สามารถหยุดหรือเปลี่ยนทิศได้ง่าย คนเดินควรจะให้จักรยานไปก่อน ในกรณีนี้คนขี่จักยานควรจะตะโกนบอกคนเดินให้รู้ตัวอย่างสุภาพ และบอกคนเดินด้วยถ้ามีจักรยานตามหลังมาอีก

คนใช้ทางร่วมกับคน คนที่กำลังเดินขึ้นเนินหรือเขานั้นปกติจะเหนื่อยกว่าคนเดินลงและเห็นทางในระยะที่จำกัดกว่า หากเรากำลังเดินลงก็ควรหลบทางให้คนกำลังเดินขึ้นไปก่อน ในบางกรณีคนเดินขึ้นอาจจะอยากพักเหนื่อยบ้างและให้เราที่กำลังเดินลงไปก่อน เค้าจะส่งสัญญาณ เมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้เราก็เดินลงต่อไปอย่าลืมกล่าวคำทักทาย ขอบคุณและให้กำลังใจกัน ประมาณว่าอีกหน่อยก็ถึงแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการแสดงความสุภาพนะครับ ถ้าเราเดินเร็วและจะแซงก็ให้สัญญาณคนที่เดินอยู่ข้างหน้า ฝรั่งมักจะกล่าวว่า On your left หรือ right ขึ้นอยู่ว่าจะแซงทางซ้ายหรือขวา กล่าวคำทักทายเล็กน้อยๆเพื่อสร้างบรรยากาศการเดินป่าที่ดี ประโยคที่นิยมใช้กัน ก็มี Hi!, How are you?, Nice weather! หรือ Good day! เป็นต้น

คนและจักรยานใช้ทางร่วมกับม้าขี่หรือสัตว์ขนของ หลักสากลคือทั้งคนและจักรยานต้องให้ม้าหรือสัตว์ไปก่อน เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ ม้าหรือนั้สัตว์นั้นตัวใหญ่ ขี้ตกใจ เปลี่ยนทิศทางยากและคาดเดาพฤติกรรมไม่ค่อยได้ เวลาหลบสัตว์ให้เราขยับออกมาจากทางโดยออกเยื้องลงมาอยู่ที่ต่ำกว่าสัตว์ อย่าส่งเสียงดัง พูดทักกับคนขี่หรือบังคับสัตว์เบาๆ เพื่อไม่ให้ตกใจ เหตุที่หลบลงมาที่ต่ำนั้นเพราะโดยธรรมชาติสัตว์เหล่านี้เวลาตกใจจะเตลิดวิ่งขึ้นที่สูง นึกภาพถ้าเราไปขวางทางม้าที่ตกใจวิ่งขึ้นมา…ดูไม่จืดครับ

เมื่อเดินเป็นกลุ่มใหญ่พยายามเดินเรียงเดี่ยว ถ้าทางกว้างมากๆอาจเดินพร้อมกันหลายคนได้แต่อย่าเดินโดยใช้ที่มากกว่าครึ่งหนึ่งของความกว้างทางนะครับ

เมื่อไหรก็ตามที่เราหยุดเดิน ไม่ว่าจะชมวิว พักเหนื่อย หรือให้ทางแกผู้อื่น เราควรขยับหลบออกมาจากทางเดินเพื่อให้ทางว่างสำหรับผู้อื่นได้ใช้ เมื่อขยับออกมาควรอยู่ในที่ผิวแข็ง เช่นหิน ดินแข็งหรือหิมะ อย่าเหยียบย่ำไปบนพื้นนุ่มที่เต็มไปด้วยหญ้าและดอกไม้ครับ

เดินป่าอย่างเงียบและสงบ อย่าพูดส่งเสียงดัง เราอุตสาห์เข้าไปในป่าเขากันเพื่อหลีกหนีความอึกทึกวุ่นวายกันอยู่แล้ว เสียงตะโกนโหวกเหวกนั้นถือว่าเป็นมลภาวะในป่าเขาลำเนาไพรอย่างยิ่งเพราะฉะนั้นอย่าทำเลยครับ ถ้าอยากฟังเพลงโปรดจากโทรศัพท์หรือวิทยุก็ให้ใช้หูฟังให้เรียบร้อยครับ ถ้ามีหมาไปด้วยก็ผูกโซ่ ควบคุมให้เรียบร้อยอย่าให้ไปรบกวนนักเดินป่าคนอื่น และทำให้ธรรมชาติสกปรกครับ

 


บทส่งท้าย

 

โดยสรุป ร้านพีทแอนด์พอลได้นำเสนอข้อควรปฏิบัติระหว่างเดินป่าตามหลัก Leave No Trace Principles ที่พวกเรานักเดินทางไทยสามารถทำตามได้ง่ายๆ ระหว่างท่องเที่ยวในป่าเขาลำเนาไพรทั้งในและต่างประเทศ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลเหล่านี้จะมีส่วนช่วยให้นักเดินทางวางแผนและเตรียมพร้อม ท่องเที่ยวไปในโลกอย่างมีความรับผิดชอบและร่วมสร้างบรรยากาศการเดินทางที่ดี รักษาธรรมชาติที่ไปพบเห็นให้งดงามน่าประทับใจอยู่เสมอครับ

 

สุดท้ายนี้ขอฝากประโยคข้อคิดที่ John Muir นักอนุรักษ์ธรรมชาติชาวอเมริกันผู้โด่งดังได้ให้ไว้กับคนรุ่นหลังว่า

 

“In every walk with nature,
one receives far more than he seeks”
“การเดินป่าให้อะไรมากกว่าที่เราค้นหาเสมอ”
 

   ขอบคุณที่ติดตามอ่านกันมา แล้วพบกันบน Trail นะครับ

  พอล